ร้านอาหารเมียนมาในประเทศไทย เปิดให้ลูกค้ารับประทานฟรี เพื่อต่อสู้กับการรัฐประหารที่บ้านเกิด เจ้าของร้านไม่หวั่นผลกระทบ เผยห่วงอนาคตประเทศตัวเองมากกว่า
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ไวซ์ดอตคอม รายงานว่า ร้านอาหารมัณฑะเลย์ ฟู้ดเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ขอให้ลูกค้าบริจาคเงินช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารในเมียนมา
“ไซ เลา ไม” เจ้าของร้านให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนที่ผมเห็นข่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผมไม่อยากทำอะไรเลย ผมไม่อยากขายของอีกต่อไป รู้สึกเสียใจมากราวกับโลกพังทลาย ผมเลยอยากตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือในทุกทางที่ทำได้”
ร้านของเขา ติดภาพขนาดใหญ่ของ “อองซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ไว้ที่หน้าต่างบริเวณทางเข้าร้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวเมียนมาที่อยู่ต่างแดนยังคงความนิยมในตัวผู้นำวัย 75 ปี เขายกย่อง “อองซาน” และพรรคของเธอด้วยว่า เป็นดั่งกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดในการต่อต้านกับกองทัพที่น่าหวั่นเกรง ซึ่งตอนนี้ได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง หลังเมียนมาทดลองปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยได้เพียง 10 ปี
ส่วนผนังของร้านที่เปิดได้ 3 ปีแห่งนี้ ติดวอลเปเปอร์สีทองและตกแต่งด้วยหุ่นกระบอกกับร่มสีสันสดใส ขณะที่เมนูอาหารมีทั้งอาหารจากเมียนมา เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่กระทิ, โมฮิงกา (ซุปปลาชนิดหนึ่ง) และก๋วยเตี๋ยวเต้าหู้
ร้านอาหารแห่งนี้ต่างอยู่ริมถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นย่านที่พลุกพล่านในกรุงเทพฯ โดยมีพนักงานเป็นชาวเมียนมา และลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเมียนมา
ภายในเวลาไม่ถึง 3 วัน ทางร้านระดมทุนได้เกือบ 1,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 30,000 บาท) ขณะที่ เลา ไม ซึ่งเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมียนมาที่กรุงเทพฯ ตั้งความหวังว่าจะระดมทุนให้ได้ 2,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 60,000 บาท) ภายในวันศุกร์นี้
“ผมรู้สึกกลัวนิดหน่อยว่าร้านอาหารจะได้รับผลกระทบ แต่ถ้ามันจะเป็นอย่างนั้นก็ช่างมันเถอะ ผมห่วงอนาคตประเทศตัวเองมากกว่า” เลา ไม ชาวมัณฑะเลย์วัย 29 ปี กล่าว
สำหรับเขา การยึดอำนาจของกองทัพถือเป็นการทำให้ประเทศถอยหลังไปสู่เลขศูนย์
ช่วงเช้าวันจันทร์ อองซานและผู้นำระดับสูงคนอื่น ๆ ถูกควบคุมตัว และต่อมาถูกตั้งข้อกล่าวหาที่คลุมเครือ ซึ่งรวมถึงการครอบครองเครื่องรับส่งวิทยุที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งพรรคของซูจีกวาดชัยชนะได้ นอกจากนี้ทางกองทัพยังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมมอบอำนาจให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ทรงอำนาจ “มิน อ่อง ลาย”
การรัฐประหารที่สร้างความตกใจให้กับชาวเมียนมา ที่อาศัยอยู่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวเมียนมาขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน
ลูกค้าที่มารับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านมัณฑะเลย์ ฟู้ดเฮาส์ เมื่อวันพุธ แสดงความสิ้นหวังกับการยึดอำนาจของทหาร แม้ว่าทุกคนจะเคยชินกับการใช้ชีวิตภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในเมียนมาก่อนหน้านี้
“เราหัวใจสลายและเสียใจมาก อย่างที่คุณรู้ ในยุคของเรา เรามีประสบการณ์ที่เลวร้ายมากในอดีต” ซานดา พรู ลูกค้าคนหนึ่งของร้านเผยและว่า “เราปลอดภัยในประเทศไทย แต่เราเป็นพลเรือนเมียนมา เรามีความรู้สึกเช่นเดียวกับพลเรือนที่นั่น มันไม่สำคัญว่าเราจะอยู่ที่ไหน”
ลูกค้าอีกคน “เคียง ซู หวาย” ก็รู้สึกช็อกไม่ต่างกัน พร้อมกับบอกว่า “มีการพูดถึงรัฐประหาร แต่ฉันไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริง” เธอกล่าวและว่า เธอดีใจที่ได้บริจาคเงินผ่านร้านมัณฑะเลย์ ฟู้ดเฮาส์ เพื่อสนับสนุนการต่อสู้
“มีร้านอาหารเมียนมาจำนวนมากในประเทศไทย แต่ร้านนี้เป็นร้านเดียวที่รับการบริจาค แทนการชำระเงินค่าอาหาร มันทำให้ฉันอยากมาที่นี่”
“ซู หวาย” ซึ่งติดต่อกับครอบครัวของเธอผ่านทางเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ที่เพิ่งถูกบล็อกในเมียนมา บอกด้วยว่า เธอห่วงเรื่องการเงินของที่บ้าน
เมียนมากำลังเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และตั้งแต่เกิดรัฐประหาร น้องชายและน้องสาวของเธอก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะพวกเขากลัวที่จะออกจากบ้าน รายได้ที่ลดลงกระทันหันยิ่งสร้างความกังวลมากขึ้นในช่วงที่ราคาอาหารถีบตัวขึ้นสูง
ประเทศไทยเปิดรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ที่หนีความรุนแรงและการข่มเหงจากกองทัพ ผู้ลี้ภัยประมาณ 91,803 คน จากเมียนมา อาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงของรัฐบาล บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเคยผ่านการรัฐประหาร ยังไม่ออกมาประณามเรื่องดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ประท้วงจัดการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิไตยหน้าสถานทูตเมียนมาประจำกรุงเทพฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาว่าเป็น “เรื่องภายในประเทศ”
วันต่อมา เมื่อถูกถามเรื่องจุดยืนที่มีต่อการรัฐประหารในเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ท่าทีของเขาก็เหมือนกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งสนับสนุนให้มีการเจรจา, ปรองดอง และกลับสู่ภาวะปกติ
หลังการรวบรวมเงิน เจ้าของร้านมัณฑะเลย์ ฟู้ดเฮาส์ หวังจะใช้เงินจำนวนนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการรัฐประหารในเมียนมา
มัณฑะเลย์ ฟู้ดเฮาส์ วางแผนจะรับบริจาคเงิน แทนการชำระเงินค่าอาหารไปจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้น เลา ไม จะหาทางรับบริจาคด้วยวิธีอื่น ๆ โดยไม่ผ่านร้านอาหารของเขา
เจ้าของร้านอาหารผู้มุ่งมั่น สนับสนุนให้ผู้ที่เห็นด้วยกับจุดยืนของเขาออกมาส่งเสียงทางออนไลน์ และกดดันให้รัฐบาลในประเทศอื่น ๆ ออกมาประณามการรัฐประหาร
“ผมไม่อยากให้ประเทศกลายเป็นแบบเกาหลีเหนือ หากคุณไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น มาช่วยกันหยุดมัน ก่อนที่จะสายเกินไป”