เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ศบค.พบติดเชื้อรายใหม่ 58 ราย กทม. 12 สมุทรสาคร 38 ตลาดบางแคผวาพ่อค้าติดต่อกัน กทม.ลงตรวจเชิงรุก “ประยุทธ์” พร้อมนำทีม ครม.ฉีดวัคซีนโควิด-19 วันนี้ “หมอยง” ประจำการฉีดให้ รมต.ชิ่งอื้ออ้างติดภารกิจ “ประวิตร” เบี้ยวด้วย
วานนี้ (11 มี.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 58 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 53 ราย ที่มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 17 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 36 ราย และมาจากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศ 4 ราย และจากช่องทางธรรมชาติเป็นชาวเมียนมา 1 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 26,598 ราย หายป่วยแล้ว 26,000 ราย รักษาตัว 513 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงอยู่ที่ 85 ราย
สำหรับการติดเชื้อในประเทศ 53 ราย พบว่า จ.สมุทรสาคร มีจำนวนมากสุด 38 ราย, กทม. 12 ราย และจังหวัดอื่น ๆ อีก 3 ราย
วันเดียวกัน สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. สรุปผู้ป่วยโควิด-19 ระบุ กทม. พบผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 63 – 11 มี.ค. 64 รวม 1,006 ราย ไทม์ไลน์แถลงไปแล้ว 946 ราย สำหรับวันนี้ มีไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่อยู่ใน กทม. ซึ่งได้สอบสวนโรคแล้วเสร็จเพิ่มอีก 20 ราย คือ รายที่ 947-966 ที่สอบสวนโรคเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ป่วยทั้ง 20 คน มีหลากหลายอาชีพ ทั้งค้าขาย พนักงานบริษัท พ่อค้าขายไก่สด พนักงานร้านขายของ มีกลุ่มพนักงานโรงงานในเขตภาษีเจริญ จำนวน 4 ราย โดย 1 รายไปร่วมชุมนุมทางการเมืองที่หน้าสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ด้วย
ขณะที่อีก 2 รายที่มีอาชีพค้าขายอยู่ในตลาดบางแค เขตบางแค โดยรายหนึ่งไปขายของที่ตลาดทุกวันตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ก่อนที่วันที่ 5 มี.ค.จะทราบว่าผู้ขายร้านใกล้กันติดเชื้อ แต่ระหว่างวันที่ 6-8 มี.ค. ก็ยังไปขายของอยู่ เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 มี.ค. โดยนั่งแท็กซี่ แต่จำทะเบียนไม่ได้ และวันที่ 9 มี.ค. ทราบว่าติดเชื้อและเข้ารับการรักษา
วันเดียวกัน สำนักอนามัย กทม. ได้จัดทีมเฉพาะกิจลงไปที่ตลาดบางแค เพื่อที่จะตรวจกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำตามกระบวนการทางระบาดวิทยา ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 300-400 คน ที่ต้องทำการสวอป (Swab) แบบละเอียด และในวันที่ 12 มี.ค. จะไปตรวจเชิงรุกที่ตลาดบางแคต่อเนื่อง รวมไปถึงในส่วนของพื้นที่เขตสายไหม และเขตดอนเมือง ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ จ.ปทุมธานี ด้วย
รายงานจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในวันที่ 12 มี.ค. เวลาประมาณ 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) บางส่วน มีกำหนดเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา ศบค.จะเป็นผู้ทำการฉีดวัคซีนให้ อย่างไรก็ตามในการฉีดวัคซีนครั้งนี้ นางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกฯ และคู่สมรสของ ครม.ไม่ได้ฉีดด้วย
สำหรับรัฐมนตรีที่แจ้งไม่เข้าร่วมรับวัคซีน โดยแจ้งว่าติดภารกิจ ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ, นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ, นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ โดยเฉพาะนายวิษณุ ที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดรอบนี้ เนื่องจากมีโรคประจำตัว ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวก่อน
ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ถ.พระราม 6 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนคงไม่ได้ไปร่วมฉีดวัคซีนโควิด-19 กับคณะของนายกฯด้วย เพราะติดงาน แต่พร้อมฉีด ถ้าหมอบอกว่าฉีดได้
เมื่อถามว่าจะฉีดเมื่อไร พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า “ผมต้องบอกคุณด้วยหรือ ถ้าผมช็อกตายไปจะทำยังไง แต่ผมพร้อมตลอด ถ้าหมอให้ฉีด เพราะผมแก่แล้ว ผมไม่ใช่เด็กๆ”
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนออกมาเรียกร้องขอนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่ต้องการฉีดว่า รัฐบาลเปิดกว้างอยู่แล้ว ไม่ได้ปิดกั้นอะไรเลย ตรงกันข้ามเราถือว่า รพ.เอกชน หรือภาคเอกชนไหนที่นำวัคซีนเข้ามา และฉีดในคนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองหรือฉีดด้วยงบประมาณของตัวเอง ถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับบ้านเมืองด้วยซ้ำที่ทำให้ภาระกระทรวงสาธารณสุขคลี่คลายลงไป เราจะได้ไปใช้เวลากับผู้ที่ต้องการวัคซีนกับประชาชนทั่วไปที่เข้าถึงยากได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ไม่ได้บังคับให้ซื้อวัคซีนของรัฐบาลด้วย
“ภาคเอกชนจะเอายี่ห้ออะไรเข้ามา ก็เอามาเลย ไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลให้นโยบายกับองค์การอาหารและยา (อย.) ว่า ถ้ามีการนำเข้ามาต้องเป็นวัคซีนที่ถูกต้องได้มาตรฐานมีความปลอดภัย ซึ่งอย.พร้อมที่จะจดทะเบียนให้ ยิ่งมีเยอะยิ่งดี ทำให้มีทางเลือก ยิ่งทำให้มีการแข่งขันเรื่องราคามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนไทยมากยิ่งขึ้น” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย.กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศ ต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน และยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของตน เนื่องจากผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่นำเข้ามา สำหรับระยะเวลาในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้าแต่อย่างใด อย.ได้เปิดช่องทางพิเศษพร้อมอำนวยสะดวกในการขึ้นทะเบียนในทุกเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม หากผู้รับอนุญาตส่งเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนด จะใช้เวลาในการประเมินและพิจารณาอนุญาตประมาณ 30 วัน