วันที่ 30 มกราคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) และ นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การระบาดรอบใหม่ จ.มหาสารคาม มีผู้ติดเชื้อสะสม 7 ราย เดิมมีผู้ติดเชื้อ 1 ราย และล่าสุดที่รายงานวันนี้ เป็นผู้ติดเชื้อ รายที่ 2 ของจังหวัด เป็นชาย อายุ 46 ปี เมื่อวันที่ 3 ม.ค. เดินทางจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ถึงมหาสารคาม เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เริ่มมีอาการไข้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. เริ่มปวดเมื่อยตามตัว เมื่อวันที่ 23 ม.ค. มีอาการมากขึ้น จึงไปพบแพทย์ แล้วได้รับยารักษา
ต่อมาวันที่ 27 ม.ค. อาการไม่ดีขึ้น จึงไปตรวจที่โรงพยาบาล(รพ.) ผลยืนยันติดเชื้อ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ทีมสอบสวนโรคเร่งติดตามผู้สัมผัสรวม 110 ราย เบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ได้แก่ ภรรยา เพื่อนอีก 4 รายที่กินเลี้ยงโต๊ะแชร์ด้วยกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ม.ค. พบผู้ที่มีผลบวกเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งรอการยืนยัน และจะนำมารายงานข้อมูลเพิ่ม และในวันที่ 30 ม.ค. พื้นที่เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน เพื่อขีดวงพื้นที่ ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ช่วงนี้ควรงดกิจกรรมงานเลี้ยง เพราะการรับประทานอาหาร จะต้องเปิดหน้ากากอนามัยออก ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อได้
ด้าน นพ.วิชาญ กล่าว กรณีงานเลี้ยงวันเกิด มี 2 กลุ่มเชื่อมโยงกัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 30 ราย สถานการณ์ในกลุ่มนี้ค่อนข้างจะนิ่งแต่ยังต้องติดตามต่อไปจนครบระยะการเฝ้าระวัง กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญเรื่องของการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง คือ ไม่เอาตัวเองเข้าไปสถานที่หรือกิจกรรมเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยง เพราะจะส่งผลให้ตัวเองอาจเกิดการติดเชื้อและทำให้แพร่กระจายไปสู่คนใกล้ชิดจำนวนมากได้ และไม่ควรประมาทแม้มีอาการเพียงเล็กน้อย หากมีปัจจัยเสี่ยงหรือความเสี่ยงต้องรีบไปตรวจ และต้องรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม พึงระลึกเสมอว่าไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อไม่ว่ากรณีใดก็ตาม อย่ารอให้เกิดการระบาดลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้ อาจจะสายเกินไป
“สถานการณ์ที่ใกล้สงบนี้ ขอทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันยุติให้ได้โดยเร็ว กิจกรรมอะไรงดได้ขอให้งด กิจกรรมอะไรที่เสี่ยงขอให้เลี่ยง ร่วมกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง ใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็ต้องคอยห้ามปราม ตักเตือนกันและกัน ช่วยเหลือดูแลกันในภาวะวิกฤตนี้” นพ.วิชาญกล่าว
นพ.วิชาญ กล่าวว่า ภาพรวม กทม. ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อต่อเนื่องทุกวัน แต่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งวันนี้พบรายใหม่ในหลักหน่วย เป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมามีการติดเชื้อในงานเลี้ยงวันเกิดและพนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้า จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่มีมาตรการปิดสถานบันเทิง จึงทำให้ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในกลุ่มนี้ การตรวจหาเชื้อกลุ่มแรงงานต่างด้าวโดยการสุ่มสำรวจตามโรงงาน สัปดาห์แรกสำรวจ 5 เขต ได้แก่ บางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ หนองแขม และบางแค จำนวนกว่า 40 แห่ง พบผู้ติดเชื้อ 4 แห่ง โดย 3 แห่งแรกเป็นโรงงานที่มีผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว ส่วนอีก 1 แห่ง เป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเขตภาษีเจริญ
นพ.วิชาญ กล่าวว่า การติดเชื้อในชุมชนพบประปราย โดยเฉพาะในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ ได้แก่ บางขุนเทียน บางบอน แต่แพร่กระจายไม่มาก ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า ขณะที่ มีการเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีความเชื่อมโยงกับเพื่อน สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้า บ่งชี้ว่ามาตรการป้องกันส่วนบุคคลมีความหย่อนขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับเพื่อน หรือคนใกล้ชิด ก็ต้องระวังมากขึ้น ผู้ที่เข้าพื้นที่เสี่ยงโดยไม่กักตัวเอง ก็จะนำเชื้อมาสู่คนใกล้ชิดได้
“เมื่อเทียบสถานการณ์ใน กทม. พบว่า การระบาดรอบใหม่ยังไม่สูงเท่ารอบแรก แต่มีแนวโน้มต่อเนื่อง ก็ยังวางใจไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มเที่ยว เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการวางมาตรการที่เข้มข้นขึ้น” นพ.วิชาญ กล่าวและว่า มาตรการสำคัญในกทม. ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.ระบบเฝ้าระวังเชิงรับ เพิ่มความเข้มข้น ปรับนิยามพื้นที่และประชากรเสี่ยง เน้นย้ำทุกหน่วยบริการปฏิบัติตามแนวทางของกรมควบคุมโรค 2.มาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ(ARI Clinic) สุ่มตรวจหาเชื้อในกลุ่มนี้มากขึ้น 3.การตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนมากขึ้น เพื่อยุติการระบาดในกทม.
นพ.วิชาญ กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เริ่มเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงด้วยการสำรวจแบบเร็ว สุ่มตรวจหาเชื้อในโรงงานที่มีแรงงานต่างด้าว ให้ครอบคลุมทั้งโรงงานขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ส่วนที่หารือวางแผนคือ การศึกษาทางระบาดวิทยาเพิ่มเติม ร่วมกันระหว่าง กทม.และกรมควบคุมโรค เพื่อหาการติดเชื้อในชุมชน มุ่งเป้าในคนไทยที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการสัมผัสแรงงานต่างด้าว เช่น ผู้ทำงานในสำนักงานเขต บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ ผู้ขับรถสาธารณะ วินจักรยานยนต์ แคชเชียร์ พนักงานแลกบัตรศูนย์การค้า เป็นต้น
เมื่อถามถึงกรณีการผ่อนคลายมาตรการวันที่ 1 ก.พ.นี้ จะต้องเข้มงวดอย่างไรไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีก นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ต้องร่วมมือร่วมใจทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า สถานบริการต่างๆ ต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง รักษาระยะห่าง ลูกค้าไม่หนาแน่นเกินไป จัดอุปกรณ์ล้างมือ ส่วนประชาชนต้องมีมาตรการเข้มข้น เมื่อโรคสามารถแพร่ได้โดยไม่มีอาการ ต้องป้องกันตนเองให้ดีที่สุด ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยง หากเราใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะจะรู้ว่าคนหนาแน่นหรือยัง อย่ารู้สึกเหนื่อยที่ต้องสแกน การดูแลความสะอาด รักษาระยะห่าง ก็ต้องทำต่อไป
“แม้ช่วงต่อไปจะมีวัคซีนโควิด-19 มา เพราะเป็นเรื่องของการป้องกันความรุนแรงของโรค ป้องกันการเสียชีวิต แต่การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจาย พอฉีดในภาวะฉุกเฉินจะมีการติดตามข้อมูลต่อไป แม้มีวัคซีนแล้วสักระยะหนึ่งจนกว่าจะมั่นใจทุกมาตรการทำร่วมกันหยุดการระบาดได้ ถึงจะค่อยคลายมาตรการ ชีวิตวิถีใหม่จึงยังสำคัญมาก” นพ.เฉวตสรร กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ปกครองสามารถขับรถพานักเรียนจากสมุทรสาครไปเรียนในจังหวัดอื่นที่มีการเปิดเรียนแล้ว เช่น กทม.ได้หรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า โรงเรียนมีมาตรการกำหนดเพื่อป้องกันควบคุมโรคสูงสุด แต่มีนักเรียนส่วนหนึ่ง ไม่เฉพาะสมุทรสาคร อาจจะมีอีกส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ผู้ปกครองบุคลากรทางการแพทย์ทำงานสมุทรสาคร ต้องไปส่งลูกเรียนต้องทำอย่างไร โดยหลักการการดำเนินมาตรการของโรงเรียนจะมีการคัดกรอง กำหนดจำนวนนักเรียนเข้าไปเรียน ถ้าโรงเรียนมีมาตรการเข้มงวดก็ไปเรียนได้ แต่ยังจำเป็นต้องคัดกรองเฝ้าระวังพิเศษ ซักประวัติอาการ วัดอุณหภูมิก่อนเข้าเรียนเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการ
“การไปสมุทรสาครไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงอยู่ที่บางจุด บางกิจกรรมเท่านั้น การขับรถผ่านไมได้หมายความว่าเป็นความสี่ยง บุคลากรก็มีการทำงานป้องกันตนเองเต็มที่ แม้จุดเสี่ยงเมื่อกลับมาก็แทบไม่มีความเสี่ยง โรงเรียนต้องทำความเข้าใจกับนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไปทำงานที่สมุทรสาคร ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจกัน อย่าตื่นตระหนกกันจนทำให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครอง” นพ.วิชาญ กล่าว