นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง วัคซีนของแอสตร้าเซเนกาที่มีการชะลอฉีดรวมถึงไทยว่ามี ข้อมูลที่ผู้ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซเนกาเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันนั้น ไม่น่าจะเกิดจากวัคซีน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังรวบรวมข้อมูลและรอดูข้อมูลอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะสรุปข้อมูลได้ในต้นสัปดาห์หน้า หากไม่มีปัญหาอะไร ก็จะเริ่มฉีดวัคซีนต่อไปตามแผนที่กำหนดไว้
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยว่าไทยได้มีการจองซื้อวัคซีนแล้ว 63 โดสในปี 64 จากซิโนแวก 2 ล้านโดส แอสตร้าเซเนการอบแรก 26 ล้านโดสและซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส จะครอบคลุมประชากรไทยอย่างน้อย 30 ล้านคน และมีความพยายามที่จะหาวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.-เม.ย.นี้จะมีวัคซีนซิโนแวกเข้ามาอีก 800,000 โดสในเดือนมี.ค.หลังเข้ามาแล้ว 200,000 โดสเมื่อ 24 ก.พ.64 และในเดือนเม.ย.64 มาอีก 1 ล้านโดส
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนกา จะเข้ามาในเดือนมิ.ย. 64 จำนวน 6 ล้านโดส ก.ค. 64 อีก 10 ล้านโดส และส.ค.64 จำนวน 10 ล้านโดส ส่วนที่ซื้อเพิ่มเติม 35 ล้านโดสจะเข้ามาเดือนก.ย.-ธ.ค.64 เดือนละ 10 ล้านโดส โดยเดือนธ.ค.เข้ามา 5 ล้านโดส
กรมควบคุมโรคจะร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเพื่อปรับแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระยะที่ 1 ในเดือนมี.ค. 64 โดยวัคซีนเป็นของซิโนแวก 192,000 โดส และ แอสตร้าเซเนกา 117,000 โดส กระจายให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไปและแรงงาน ใน 13 จังหวัดเป็นพื้นที่โรคระบาด ได้แก่ สมุทรสาคร 70,000 โดส กรุงเทพฝั่งตะวันตก 66,000 โดส ปทุมธานี 8,000 โดส นนทบุรี 6,000 โดส นนทบุรี 6,000 โดส สมุทรปราการ 6,000 โดส ตาก 5,000 โดส นครปฐม 3,500 โดส สมุทรสงคราม 2,000 โดส ราชบุรี 2,500 โดส ชลบุรี 4,700 โดส ภูเก็ต 4,000 โดส สุราษฎร์ธานี(เกาะสมุย) 2,500 โดสและเชียงใหม่ 3,500 โดส รวม 183,700 โดส
“เรามีแผนกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานการณ์การระบาด … เมื่อมีวัคซีนเข้ามาในเดือนถัดไปก็จะมีแผนรองรับว่าแต่ละเดือนจะมีวัคซีนเท่าไหร่ เรามีแผนกระจายวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชนได้อย่างครบถ้วน แผนนี้ได้นำเสนอที่ประชุม ศบค. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และได้มีการนำเสนอเป็นระยะ เพื่อให้ทุกคนมั่นใจ ว่าเราจะสามารถให้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 63 ล้านโดสภายในปี 2564”
โดยภาพรวมแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส และ 61 ล้านโดสในปีนี้ แบ่งเป็นระยะที่ 1 เดือนมี.ค.-พ.ค. จำนวน 2 ล้านโดส กระจายใน 18 จังหวัด และระยะที่ 2 จำนวน 61 ล้านโดส เดือนมิ.ย.- ธ.ค. กระจายในทุกจังหวัด
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ ก.สาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัด จำนวน 1,000 แห่ง ฉีดวันละ 500 โดส จะทำให้ฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส และขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดก.กลาโหม และอื่นๆ ได้ยื่นความสนใจเข้าร่วมฉีดวัคซีนก็จะทำให้มีสถานพยาบาลรองรับประชาชนฉีดวัคซีน รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็เข้าร่วมเช่นกัน จะทำให้การกระจายฉีดวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น
ปัจจุบัน จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ.-12 มี.ค.64 รวม 44,409 ราย แบ่งเป็นบุคคลากรการแพทย์/สาธารณสุข รวม อสม. จำนวน 29,243 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 9,591 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 1,756 ราย และ ประชาชนในพื้นที่เสียง 3,819 ราย
ในจังหวัดเป้าหมายนำร่องในการฉีด 13 จังหวัด ส่วนใหญ่ฉีดได้เร็วกว่าเป้าหมาย ยกเว้นสมุทรสาครยังฉีดได้ 48.4% และกรุงเทพมหานคร ก็ยังฉีดได้น้อย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากวัคซีนยังไม่มีรายงาน
–อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร โทร.02-2535000 ต่อ 353 อีเมล์: [email protected]–