25 มี.ค. 2564 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ภายใต้การศึกษาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ว่า จากข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอย่างเป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชนนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และสร้างโครงข่ายให้สมบูรณ์และครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาเหมาะสม
ทั้งนี้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อให้ผู้สัญจรเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ทำให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำแผนการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทาง หรือ Feeder และแผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้การเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า สนามบิน และระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า สนข. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด) ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้งบประมาณในการศึกษาฯ วงเงิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาการศึกษา 18 เดือน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการศึกษาฯ ตั้งแต่ ก.ย. 2563-มี.ค. 2565
สำหรับโครงการศึกษาดังกล่าว เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยในเบื้องต้นจะจัดทำแผนระบบการขนส่งรองเชื่อมระบบขนส่งหลัก (Fedder) ในเส้นทางที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 9 เส้นทาง ระยะทาง 170.38 กิโลเมตร (กม.) และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 6 โครงการ ระยะทาง 150.76 กม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีส้ม เป็นต้น โดยในเบื้องต้น จะนำร่องกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่จะเปิดทดลองให้บริการประชาชนในวันที่ 28 ก.ค. นี้ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ พ.ย. 2564
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจในโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ของที่ปรึกษาโครงการ และเจ้าหน้าที่ สนข. ได้ออกแบบระบบ Feeder ในระยะรัศมี 3 กม. ในสถานีหลักที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบสถานีต่างๆ มีระบบโดยสารสาธารณะที่จะเดินทางสู่สถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีราคาเหมาะสม พร้อมกันนี้ ที่ปรึกษาของโครงการ จะทำการสำรวจอละออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบสถานี เช่น ทางเดินเท้า Skywalk หลังคาคลุมกันแดดกันฝน จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ จุดจอดและจรสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น อีกทั้ง จะมีการจัดทำแอปพลิเคชั่น เพื่อให้ข้อมูลการให้บริการขนส่งสาธารณะในระบบ Feeder ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาฯ นั้น ระบุว่า เส้นทาง Feeder ที่จะดำเนินการนำร่อง เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่วงเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.นี้ จำนวน 2 สถานี เนื่องจากมีศักยภาพ และมีความเหมาะสม รวมถึงมีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก โดยจะนำรถมินิบัสไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการ ได้แก่ 1.สถานีรังสิต จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางเลียบคลองเปรม-รังสิต (วนซ้าย), เส้นทางเลียบคลองเปรม-รังสิต (วนขวา), เส้นทางพหลโยธิน 87-สถานีรังสิต, เส้นทางสถานีรถไฟฟ้าหลักหก-แยกบางพูน, เส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-บขส.รังสิต และเส้นทางซอยเจริญชัย-สถานีรังสิต 2.สถานีบางบำหรุ
ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปเส้นทางที่มีความเหมาะสมอีกครั้งต่อไป ในส่วนของสถานีที่เหลือนั้น จะทยอยพิจารณาความเหมาะสม และสอดคล้องกับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ พ.ย.นี้ ซึ่งประเมินว่า สถานีอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม เช่น สถานีตลิ่งชัน สถานีดอนเมือง สถานีหลักสี่ สถานีวัดเสมียนนารี เป็นต้น