แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยการซักประวัติก่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีความสำคัญ ช่วยป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง หลังฉีดมีระบบการติดตามทั้งในโรงพยาบาล 30 นาทีหลังฉีด และติดตามจนครบ 30 วัน ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นไม่ใช่การแพ้ที่รุนแรงเฉียบพลัน สามารถรับวัคซีนเข็ม 2 ได้
บ่ายวันนี้ (4 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยพญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย และในประเด็นการปฏิบัติตัวเตรียมพร้อมก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 54 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 36 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 8 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาหาย 79 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 4 มีนาคม 2564 จำนวน 21,925 ราย รักษาหายสะสม 21,385 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.54 เสียชีวิตสะสม 25 ราย อยู่ระหว่างรักษา 515 ราย โดยผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้จำนวน 44 ราย พบใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก กรุงเทพมหานคร นครนายก ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงเข้มข้นการเฝ้าระวังและค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง เช่นกรณีที่พบลูกจ้างติดเชื้อโควิด 19 ในโรงชำแหละเนื้อสุกร ที่ จ.ปทุมธานี จึงได้แจ้งพื้นที่ต่าง ๆ ให้เฝ้าระวังในโรงชำแหละเนื้อสัตว์ ส่วนในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจ ไม่พบการติดเชื้อในโรงชำแหละเนื้อสัตว์
สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ เป็นชายไทย อายุ 63 ปี จากกรุงเทพมหานคร มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติเดินทางและพักอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการ เจ็บคอ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ต่อมาอาการแย่ลงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2564 ฉีดครบแล้วทั้ง 13 จังหวัดเป้าหมาย รวม 13,464 ราย แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และอสม. 12,598 ราย, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 753 ราย ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 119 ราย
ด้านแพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า กรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 ที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ จากการทบทวนข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และกรมควบคุมโรค พบว่า มีอาการไม่พึงประสงค์ แต่ไม่ใช่การแพ้อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ชนิด Anaphylaxis เนื่องจากสัญญาณชีพ และความดันโลหิตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ หลังเกิดอาการสามารถปฏิบัติงานได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง และมีอาการของท้องเสีย จึงต้องพิจารณาเรื่องของการติดเชื้อร่วมด้วย และสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ ภายใต้การสังเกตการณ์ของแพทย์อย่างใกล้ชิด
แพทย์หญิงจุไรกล่าวต่อว่า ก่อนรับวัคซีนโควิด 19 แพทย์จะซักประวัติการแพ้ยาหรือแพ้อาหารอย่างรุนแรง การแพ้วัคซีนตัวอื่นหรือส่วนประกอบของวัคซีน หลังจากได้รับภายใน 30 นาที ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะต้องอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมอาการได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ในการประเมินพร้อมในการฉีดวัคซีน หากไม่พร้อมจะเลื่อนออกไปก่อน นอกจากนี้ หลังฉีดรับวัคซีนทุกคนจะต้องพักรอเพื่อสังเกตอาการจนครบ 30 นาที ตามโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัย อย่างรอบคอบ หากกลับบ้านแล้วเกิดอาการหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก ผื่นขึ้นตามตัว ความดันตก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ขอให้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1669 ส่วนอาการไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อยที่พบบ่อย เช่น ไข้ เจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ จะหายได้ภายใน 1-2 วัน
“วัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินช่วงที่มีการระบาดของโรค มีความปลอดภัย รวมถึงระบบการฉีดที่โรงพยาบาลมีความพร้อม มีการเฝ้าระวัง 30 นาทีหลังฉีด และติดตามอย่างใกล้ชิดทั้ง 2 เข็มเป็นระยะเวลา 1 เดือน ขอให้ทุกคนวางใจ อย่างไรก็ตาม การฉีดขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ความพร้อมด้านสุขภาพของผู้รับวัคซีน และการประเมินของแพทย์” แพทย์หญิงจุไรกล่าว
************************************* 4 มีนาคม 2564