โครงการรถไฟฟ้าทำให้เกิดศึกระหว่าง “ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่” กระทบชิ่งไปยังศึก “พรรคร่วมรัฐบาล” การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ อาจไม่ใช่แค่การเปิดศึกกับ “ฝ่ายค้าน” แต่ยังเป็นศึก 3 เส้า ระหว่าง “พล.อ.อนุพงษ์-พรรคสีน้ำเงิน-ฝ่ายค้าน”
“พี่น้อง 3 ป” คือเป้าหลักในศึกซักฟอกครั้งนี้ ชื่อของชายกลาง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่เคยหลุดจากโผ เพราะนอกจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว ก็มีเพียง “พล.อ.อนุพงษ์” ที่เปรียบเสมือนกล่องดวงใจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม
การล็อกเป้าไปที่ “พล.อ.อนุพงษ์” จึงไม่ต่างจากการล็อคเป้าถล่ม “พล.อ.ประยุทธ์” ยิ่งหากมองความสัมพันธ์พี่น้องแล้ว พล.อ.อนุพงษ์เป็นพี่ชายที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังทุกทิศทาง รับรู้ทุกความเคลื่อนไหวมากกว่า พล.อ.ประวิตรเสียอีก
ฉะนั้น ทุกคำพูดบนเวทีซักฟอกของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะซักถาม พล.อ.อนุพงษ์ จึงถูกวางเป้าให้ทิ่มตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย เพราะปมซักฟอกการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยคาบเกี่ยวงานที่ พล.อ.ประยุทธ์กำกับดูแลอยู่
ประเด็นหลักที่ พล.อ.อนุพงษ์ต้องรับมือคือ การต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี หลังจากคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.) ร่างสัญญาฉบับใหม่ไปตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 และหลังจากนั้นมีการเสนอ ครม.พิจารณาหลายครั้งแต่ถูกตีกลับ รวมถึงการเสนอ ครม.ครั้งล่าสุด วันที่ 17 พ.ย.2563 โดยกระทรวงมหาดไทยดันเข้า “วาระจร”
การเสนอ ครม.เพื่อให้การต่อสัญญาสัมปทานทันการเปิดทดลองใช้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-คูคต ในวันที่ 16 ธ.ค.2563 เพราะเงื่อนไขการต่อสัญญาสัมปทานจะเคลียร์หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้งหมด ประมาณ 9,000 ล้านบาท ที่กรุงเทพมหานครต้องจ่ายให้กับบีทีเอส
ในขณะที่การต่อสัญญาสัมปทานจะทำให้บีทีเอสได้สิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าเพิ่ม 30 ปี รวมเป็นสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2602 ในการเสนอ ครม.ครั้งล่าสุดได้ถูกกระทรวงคมนาคมคัดค้าน โดยยกเหตุผล 4 ข้อขึ้นมาอ้าง คือ
1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน
2.ประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐ ที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย
การออกโรงคัดค้านครั้งนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเรียก พล.อ.อนุพงษ์ และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เข้าไปเคลียร์กันบนตึกไทยคู่ฟ้า โดยเฉพาะประเด็นค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท ที่กระทรวงคมนาคมเห็นว่าสูงเกินไป และประเด็นการต่ออายุก่อนหมดสัญญา 9 ปี
กรุงเทพมหานครทำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบีทีเอสมาตั้งแต่ปี 2542 รับสัมปทาน 30 ปี (2542-2572) ก่อนที่จะครบสัญญา กทม.ได้ทำสัญญาใหม่ให้บีทีเอสเดินรถและซ่อมบำรุง 30 ปี และทำให้ครั้งนี้ กทม.จะทำสัญญาใหม่กับบีทีเอสและให้สิทธิเดินรถต่อถึงปี 2602 เพื่อแลกกับหนี้ 3 ก้อน คือ
1.หนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่กทม.ต้องรับมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้น 55,704 ล้านบาท ดอกเบี้ย 13,401 ล้านบาท รวม 69,105 ล้านบาท
2.หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,248 ล้านบาท ที่กทม.ต้องจ่ายให้บีทีเอส และมีกำหนดจ่ายภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้
3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 9,377 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 600 ล้านบาท
ทว่า การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถูกนำมาต่อรองทางการเมือง เมื่อ “2 บริษัทยักษ์ใหญ่” วางเดิมพันการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง “1 บริษัทยักษ์ใหญ่” ผู้ดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียว แสดงเจตจำนงค์ชัดเจนว่า ต้องการเข้าร่วมประมูลด้วย
แต่อีก “1 บริษัทยักษ์ใหญ่” ที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน “พรรคสีน้ำเงิน” ต้องการที่จะคว้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปดำเนินการเช่นกัน ทำให้เกิดศึกระหว่าง “ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่” กระทบชิ่งไปยังศึก “พรรคร่วมรัฐบาล” จนทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ อาจไม่ใช่แค่การเปิดศึกกับ “ฝ่ายค้าน” แต่ยังเป็นศึก 3 เส้า ระหว่าง “พล.อ.อนุพงษ์-พรรคสีน้ำเงิน-ฝ่ายค้าน”
โดยมีกระแสข่าวมาตลอดว่า ปัญหาคาราคาซังโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีอุปสรรคอยู่ที่การแบ่งเค้กที่ไม่ลงตัวเสียที
นอกจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังวางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ขบวนการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามายังประเทศ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง” ซึ่งแม้ พล.อ.อนุพงษ์ จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ทุกความเคลื่อนไหวของ “ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน” ไม่มีทางที่ “ฝ่ายปกครอง” จะไม่รับรู้
แถมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมไล่แผนผังว่าขบวนการค้าแรงงานเถื่อนมีหน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบ ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งในส่วนของ พล.อ.อนุพงษ์-มหาดไทย อยู่ในขั้นตอนปลายน้ำ ที่ต้องเช็คลิสต์-เช็คชื่อกันว่า “แรงงานเถื่อน” ที่นำเข้ามาอยู่ในความดูแลของ “นายจ้าง” คนใด
ปมค้าแรงงานเถื่อนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม และในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องรับรู้ทุกความเคลื่อนไหว เมื่อแรงงานเถื่อนถูกนำเข้ามาในประเทศไทย พล.อ.อนุพงษ์ย่อมรับรู้ตัวเลขอย่างดีว่าแรงงานเถื่อนมีจำนวนเท่าไร
ขณะเดียวกันปม “บ่อนการพนัน” ไม่ต่างจากปม “แรงงานเถื่อน” ที่กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานระดับพื้นที่ ย่อมรู้ดีว่าพื้นที่ใดมี “บ่อนการพนัน” พื้นที่ใดปลอด “บ่อนการพนัน”
ดังนั้น ทั้งปมแรงงานเถื่อน และบ่อนการพนัน การอภิปรายจะถูกโยงมาที่ พล.อ.อนุพงษ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีกระแสข่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการให้ “ปลัดคู่ใจ” ทำการบ้านด้วยการลงไปสำรวจพื้นที่ที่เป็นปัญหา เพื่ออธิบายสภาพพื้นที่เอาไว้แล้ว
จึงต้องจับตาว่า การอภิปรายแก้ข้อกล่าวหาต่างๆ ของ พล.อ.อนุพงษ์ ครั้งนี้จะตอบได้ชัดมากน้อยเพียงใด แม้การอภิปรายครั้งที่แล้วจะได้ข้อมูลอินไซต์จาก “ปลัดคู่ใจ” ฝ่ายค้านอภิปรายเสร็จปุ๊บ “พล.อ.อนุพงษ์” มีเอกสารอธิบายแก้ข้อกล่าวหาได้ทันที
แต่ครั้งนี้่อาจไม่ง่าย เพราะโจทย์ใหม่ในข้อสอบ ฝ่ายค้านร่วมกันออกหลายพรรค!