เคยมีคำกล่าวว่า คน กทม.ล้มรัฐบาล คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล เพราะการชุมนุมประท้วงทุกครั้งใช้พื้นที่ กทม.เป็นจุดยุทธศาสตร์ การมีม็อบแต่ละครั้งมีความแตกต่างในการบริการให้ความสะดวกม็อบของ กทม. ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นคนจากพรรคการเมืองไหน หรือบางครั้ง ผู้ว่าฯ กทม.มาจากซีกฝ่ายค้าน การทำงานก็ไม่ราบรื่นเพราะ กทม.ต้องอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกัน
กรณีที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป แต่ถ้าผู้สมัครไม่มีฐานเสียง ไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุน คงรอดยาก นอกจากจะเป็นคนมีบารมีและมีความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเองจริงๆ
ก่อนจะไปถึงจุดนั้น มีการสำรวจความเห็นของชาวบ้านของ นิด้าโพล ว่าใครเหมาะสมที่สุดในตอนนี้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป มีอยู่ 3 ตัวเลือก อันดับ 1 ยังเป็น ชัชชาติสิทธิพันธุ์ มากถึง ร้อยละ 27.71 อันดับ 2 ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครเลย ร้อยละ 24.60 อันดับ 3 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ร้อยละ 15.49 และอันดับ 4 เป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ร้อยละ 9.57 ต้องรอดูผู้สมัครจาก ก้าวไกล จาก ประชาธิปัตย์เปิดตัวมาแล้วจะโดนใจแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ถือว่า ชัชชาติ นำมาแบบไม่เห็นฝุ่น ยิ่งถ้าคนที่ก้าวไกลและประชาธิปัตย์ส่งมาประกวดไม่เข้าตากรรมการ คะแนนที่ไม่เลือกใครร้อยละ 24 จะสวิงไปให้ชัชชาติ แบบขาดลอย
ถามว่า ทำไมต้องเป็น ชัชชาติ คงเป็นคำตอบเดียวกับว่าทำไมต้องเป็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เอาชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วยฝาเข่ง วิกฤติโควิด-19 การไร้ประสิทธิภาพของผู้บริหาร วิสัยทัศน์ของผู้นำ การใช้อำนาจพิเศษเข้ามาครอบงำและแสวงหาผลประโยชน์ ความสูญเสียและอดอยากของประชาชน
คือเหตุผลที่จะทำให้คนหันไปเลือกคนอย่างชัชชาติ
แน่นอนว่า การใช้อำนาจพิเศษ ของคนที่รัฐบาลสนับสนุน จากฝ่ายรัฐบาล ทำให้มีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้สูงมากเพราะต้องเดิมพันด้วยการต่อท่ออำนาจครั้งต่อไป และประชาชนก็ดูออกว่ารัฐบาลส่งใครเข้าประกวด เปิดตัวออกชัดเจนขนาดนั้น
จะทำให้เกิดสึนามิการเมือง ที่ทำให้ชาวบ้านออกมาใช้สิทธิตามวิถีของประชาธิปไตยแบบถล่มทลาย เพื่อสั่งสอนให้รัฐรู้ว่า อำนาจสูงสุดอยู่ในมือประชาชน ไม่ใช่การลุแก่อำนาจของรัฐ เมื่อชาวบ้านไม่ยอมตกเป็นเหยื่อทางการเมืองอีกต่อไป ก็ต้องเดิมพันกันด้วยอนาคตทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น.