ที่มา | น.12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 มิ.ย.2564 |
---|---|
ผู้เขียน | ทีมข่าวชีวิตคุณภาพ |
ภายหลังการประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่ขอนำอำนาจการบริหารทุกอย่างไปรวมไว้ในจุดเดียว และใช้คำว่า บูรณาการการทำงาน จากทุกภาคส่วนแบบเบ็ดเสร็จ แม้กระทั่งการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไม่ว่าจะหน่วยงานใดก็ต้องเสนอเรื่องขึ้น ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นผู้อำนวย ศบค. กดปุ่มควบคุมด้วยระบบ Single Command
ฝ่ายหมอในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอง ก็ต้องบอกว่า ปิดปากเงียบ ไม่มีใครกล้าพูดถึงแผนกระจายวัคซีน แม้เข้าใจได้ว่าวัคซีนที่ผลิตในไทย การนำออกมาจากโรงงานคงไม่ติดปัญหาขนส่ง จะส่งออกเป็นรายสัปดาห์ หรือรายวัน ก็ย่อมทำได้
แต่ติดที่ว่า แผนการกระจายวัคซีน ทั้งการฉีดในระดับองค์ หรือระดับจังหวัด ที่ต้องนำรายชื่อส่งผ่านกรมควบคุมโรค สธ. แล้วขึ้นสู่การพิจารณาของ ศบค. ก่อนเคาะตัวเลขออกมา ดังนั้น จะส่งวัคซีนจริงลงพื้นที่ละกี่โดสนั้น จึงขึ้นอยู่กับความเห็นใจของคณะกรรมการใน ศบค.ทั้งสิ้น
แน่นอนว่า น้ำหนักที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ จังหวัดผู้นำด้านเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่าจะกระทบทุกจังหวัด แต่ในเวลาที่วัคซีนมีจำกัด ก็ต้องลุ้นกันว่าหวยรางวัลใหญ่จะออกที่จังหวัดไหน
เสียงอวดครวญของพี่น้องในต่างจังหวัดที่รอคอยว่า ฉันจะได้วัคซีนกี่โดส ก็เริ่มเป็นคำถามมากขึ้น เมื่อแต่ละจังหวัดต่างประกาศว่า เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ สมควรได้รับวัคซีนโควต้าใหญ่ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะทุกคนต่างได้รับบาดแผลในศึกโควิด-19 ครั้งนี้ และหวังว่าจะได้รับยาดีมารักษาแผลให้หายไวๆ
แต่ดูเหมือนแผลใหญ่ที่สุดอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ ที่นับตั้งแต่การระบาดระลอกเดือน เม.ย. จนถึงปัจจุบัน ก็พบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 4 หมื่นราย และสถานการณ์ยังน่ากังวลอย่างมาก อันเนื่องเพราะความซับซ้อนของ สังคมเมือง ประกอบกับมาตรการที่ออกมาเชิงชั่งน้ำหนักระหว่าง การแพทย์ และ เศรษฐกิจ อย่างล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติผ่อนคลาย 5 กิจกรรม จะประกาศใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่ในวันเดียวกัน ศบค.ต้องออกประกาศเบรกมติของ กทม. ชนิดที่ว่า เบรกหัวทิ่ม
สอดรับกับปัญหา การกระจายวัคซีน เดิมที สธ. โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ประกาศหนักแน่นว่าจะเริ่มฉีดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการป้องกันเป็นอันดับแรก เพราะวัคซีนล็อตที่ผลิตในประเทศไทยช่วง 2 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จำนวน 16 ล้านโดส จะทยอยกระจายไปพื้นที่ต่างๆ แต่ดูเหมือนจะไม่ทันการณ์ ไม่ทันใจ ศบค. จนต้องมีการรื้อแผนกระจายวัคซีนใหม่อีกรอบ
โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลขจากกรมควบคุมโรค สธ.ระบุว่ามีการกระจายวัคซีนทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวค ไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศไทยแล้ว 1.1 ล้านโดส
นอกจากนี้ มีรายงานว่ากรมควบคุมโรค สธ.ได้แจ้งการส่งวัคซีนแอสตร้าฯ รอบประเดิม 2.4 แสนโดส ไปยัง 58 จังหวัด แบ่งเป็น จังหวัดละ 3,600 โดส ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน ยกเว้น 19 จังหวัด ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 4 ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง เขตสุขภาพที่ 5 กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เขตสุขภาพที่ 6 ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพฯ ที่จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ ล็อตที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะจัดส่งไปถึงภายในวันที่ 6 มิถุนายน ก่อนจะเริ่มกดปุ่มแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 แห่งชาติ พร้อมกันทั่วประเทศใน
วันที่ 7 มิถุนายนนี้
มีกระแสข่าวว่า ศบค.ที่ขอนำความคล่องตัวในเชิงบริหารพิจารณาแผนกระจายวัคซีนเอง ได้ตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ สมควรได้รับเป็นวัคซีน จำนวน 5 ล้านโดส เพราะเหตุผลว่าเป็นพื้นที่ระบาดรุนแรง
จึงเป็นคำตอบว่า วัคซีนในต่างจังหวัดไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ ศบค.ขอนำไปแก้ปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในภาวะวิกฤตให้สถานการณ์สงบเสียก่อน ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่สถานการณ์ยังไม่รุนแรง คงต้องรอไปก่อนในระยะนี้ และเป็นที่มาว่า ล่าสุด ศบค.ได้ขอให้ชะลอการลงทะเบียนจองวัคซีนในแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม ที่เดิม สธ.เคยประกาศว่า จะให้ประชาชนทั่วไปทั้งประเทศได้กดลงทะเบียนพร้อมกันในวันที่ 31 พฤษภาคม เพื่อเตรียมฉีดวัคซีนในระยะถัดไปเดือนสิงหาคม 2564
ส่วนคำถามที่ว่า สำหรับผู้ที่จองฉีดวัคซีนผ่านแอพพ์ฯ หมอพร้อม ไปแล้ว จะได้รับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ซิโนแวค กันแน่! จะเป็นไปตามที่ สธ.เคยประกาศว่า ถ้าจองหมอพร้อม ต้องได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ หรือไม่นั้น
คำเฉลยในตอนนี้ก็คือ ล่าสุด สธ.ระบุว่า ขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก คาดว่าไม่เกินเดือนกันยายนนี้ ประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัดจะได้รับวัคซีนมากขึ้น เพราะถึงวันนั้น วัคซีนเข็มที่ 1 คงฉีดให้คนกรุงเทพฯ ครบร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรแล้ว หลังจากนั้น วัคซีนล็อตหลังๆ ก็คงจะได้ทยอยฉีดในพื้นที่ต่างจังหวัดให้มากที่สุด