พล.อ.ประวิตร ประชุมติดตามและกำกับการเตรียมรับมือน้ำท่วมขังใน กทม. ช่วงฤดูฝน ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน มีทั้งแผนจะเบี่ยงน้ำเหนือ เร่งสูบลงทะเลและแก้มลิง
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 3/2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ โดยจากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบทั้งระบบทั้งเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงรวม 84 โครงการ โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอแผนปฏิบัติต่อคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ
ทั้งนี้ การประชุมวันนี้จึงเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ยังมอบหมาย กทม. และกรมชลประทาน เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2564 ร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า กรณีเกิดน้ำหลากจากพื้นที่เหนือ กทม. ให้เบี่ยงปริมาณน้ำหลาก ไม่ให้เข้าพื้นที่ กทม. โดยใช้คลองแนวขวางและคลองแนวดิ่งตัดปริมาณน้ำหลากบางส่วน เพื่อระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ใช้ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ ระบายน้ำออกจากคลอง ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือให้ระบายลงสู่คลองแนวดิ่ง ได้แก่ คลอง 1 ถึง คลอง 17 รวมถึงคลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองด่าน เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองชายทะเล ซึ่งมีการติดตั้งสถานีสูบน้ำทั้งหมด 12 สถานี สำหรับเร่งระบายน้ำหลากออกสู่ทะเลโดยเร็ว
สำหรับกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันนั้น มอบหมายกรมชลประทานใช้สถานีสูบน้ำบริเวณรอยต่อกรุงเทพฯ สูบน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่คลองชลประทานก่อนระบายลงสู่แม่น้ำและอ่าวไทยต่อไป ส่วนเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณเขตพระนคร จะลดระดับน้ำตามแผน เพื่อใช้เป็นแก้มลิงรองรับน้ำฝนและควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสมต่อการเดินเรือในคลองด้วย
พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรุงเทพฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมอบหมายทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ และให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบนั้นดำเนินการโดย 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กทม. กรมชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 84 โครงการ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปแล้ว โดยที่ประชุมมีมติให้ กทม. และกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ขับเคลื่อนการดำเนินการได้ตามแผน
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ความก้าวหน้า และมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม มอบหมาย กทม. เป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ มิติด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แนวคิด “หันหน้าเข้าคลอง” เพื่อใช้สื่อสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 2564
นอกจากนี้ ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ยังได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างการตระหนักรู้ ไม่ทิ้งน้ำเสียลงคลอง พัฒนาคุณภาพน้ำในคลองให้ดีขึ้นตามค่ามาตรฐาน นำเสนอเทคโนโลยี นวัตกรรมและแผนบำบัดน้ำเสียของ กทม. ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาดและกลับมามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นตามลำดับต่อไป.