เปิดขุมทรัพย์ 2.88 แสนล้าน “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”ลุยเนรมิต 10 โปรเจ็กต์ยักษ์กลางใจเมือง-ฝั่งธนบุรี ล่าสุด AWC เตรียมทุ่มทุน1.6 หมื่นล้านปั้นมิกซ์ยูส สูงที่สุด-ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งกองทุนไล่ช็อปอสังหาฯต่อเนื่อง
การขยับพัฒนามิกซ์ยูส บนที่ดินผืนงาม “เวิ้งนาครเขษม”ภายหลังจาก บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC ภายใต้อาณาจักรใหญ่ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ปิดดีลการซื้อขายที่ดินกับบริษัท ทีซีซี เวิ้งนครเขษมจำกัด ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 สะท้อนว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่กระทบต่อ การลงทุน กลับกันยัง ตั้งกองทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องเพราะมองว่าน่าจะซื้อขายง่ายและราคาถูกลง เมื่อรวมโครงการมิกซ์ยูสในมือเจ้าสัวแล้วมีมากกว่า 10 โครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครมูลค่าเฉียด 3 แสนล้านบาท ทั้งก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการ และอยู่ระหว่างพัฒนา ขณะที่ดินทั่วประเทศมีมากกว่า 6 แสนไร่ซึ่งถือว่า เป็นเจ้าสัวที่ถือครองแลนด์แบงก์สูงที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้
ปักหมุดเวิ้งนาครเขษม
สำหรับที่ดิน แปลงเวิ้งนาครเขษม เป็นอีกขุมทองของ เจ้าสัวเจริญ ย่านเจริญกรุง ที่ได้ซื้อที่ดินต่อมาจาก “ราชสกุลบริพัตร” มานานหลายปี เพียง รอจังหวะลงทุน โดยที่ผ่านมา ได้เข้าล้อมรั้วรื้อถอนอาคารบางส่วน การพัฒนายังคงเน้น เอกลักษณ์ความเป็นกรุงเก่าเยาวราช ทั้งนี้ตามที่มีรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ของ AWC ว่าจะพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูส ในส่วนของที่จอดรถ คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ ในไตรมาส ที่ 3 ปี 2569 พื้นที่รีเทล-โรงแรม ประมาณไตรมาสที่ 1 ปี 2570 และห้องชุดบริหารโดยโรงแรม ห้องชุดปล่อยเช่าร่วม รวมถึงห้องชุดโซโห ประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 2570 มูลค่ารวม 16,595.5 ล้านบาท แหล่งข่าวจาก บริษัททีซีซี แลนด์จำกัด สะท้อนว่า ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ เพียง 18 ไร่แต่มีศักยภาพสูง เนื่องจาก อยู่ในย่านเยาวราช ใกล้แม่นํ้าเจ้าพระยา และสถานีสามยอด ของรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ตัดกับสายสีม่วงใต้ มองว่าจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของการท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เมื่อโครงการเปิดให้บริการ ในปี2569 และปี 2570 ตามลำดับ
เขย่าริมนํ้าเจ้าพระยา
ในทำเลเดียวกัน ย่านเจริญกรุงเจ้าสัวเจริญยังมีแผนลงทุนโรงแรมสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูง 450เมตร 100 ชั้น มูลค่า เกือบ 3หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการในเฟสที่สองของเอเชียทีค 1 คาดว่า อาจสร้างความสั่นสะเทือนไม่น้อยให้กับธุรกิจโรงแรมริมนํ้าเจ้าพระยาในระแวกเดียวกัน ล่าสุด ได้ลงนามในสัญญาหามืออาชีพมาบริหารรวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบของ AWC ขยับข้ามฝั่งไปที่ย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินโครงการเอเชียทีค 2 (ฝั่งตรงข้ามเอเชียทีค1) บริเวณดังกล่าวพัฒนาเป็นที่จอดรถ อาคารสำนักงานสนับสนุน โครงการเอเชียทีค 1 ซึ่งมองว่า น่าจะมีความคุ้มค่า สูง
ทั้งนี้นายสุรเชษร์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นทฺแอนด์คอนซัลแทนซี่ จำกัด ระบุว่าทำเลดังกล่าว ย่านเยาวราช เวิ้งนครเขษม ราคาที่ดิน วิ่งไปที่กว่า1ล้านบาทต่อตารางวา เช่นเดียวกับ เอเชียทีคที่ แม้วันนี้ จะมีนักท่องเที่ยวลดลงจาก
โควิดแต่ระยะยาว ถือเป็นทำเลศักยภาพ ผู้คนยังให้ความสนใจท่องเที่ยว ย่านเมืองเก่าริมแม่นํ้าเจ้าพระยามีเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมการเดินทาง
อาณาจักรพระราม4
อีกทำเลที่หากไม่กล่าวถึง คงไม่ใช่ เจ้าสัวเจริญ ที่สร้างอาณาจักรถนนพระราม 4 บนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผืนใหญ่ ไล่ตั้งแต่โครงการวันแบงค็อก เนื้อที่ 104 ไร่ มิกซ์ยูสใหญ่ที่สุด อาคารสูงที่สุดในประเทศไทย กลางใจเมือง ความคืบหน้าบริษัทอิตาเลียนไทย
ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เร่งก่อสร้างในส่วนฐานรากจนถึงชั้น ล่างคืบหน้า กว่า50% และ คาดว่า กลางปี2564จะเห็น อาคาร ก่อสร้างขึ้น เหนือดิน ในเวิ้งเดียวกัน หัวมุมถนนพระราม4ตัดกับถนนรัชดาภิเษก การก่อสร้าง อาคารศูนย์การประชุมสิริกิตติ์โฉมใหม่ พื้นที่กว่า8หมื่นตารางเมตรความสูงไม่เกิน 23เมตร มีความทันสมัย ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างก่อสร้างงานฐานราก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการเดอะปาร์คเฟสแรก ซึ่งเปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้ ที่มีการเชื่อมโยงของ MRT ใต้ดินสีนํ้าเงิน รวมถึง ฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานFYI ที่เปิดให้เช่าเต็มพื้นที่ ประเมินว่าหากเวิ้งพระราม4แล้วเสร็จราวปี 2565-2566 ย่านพระราม4จะเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะกลางใจเมืองที่น่าจับตา เพราะจะมีคนเข้าใช้พื้นที่จำนวนมาก
บูมรับสายสีนํ้าตาล
อีกโครงการที่น่าจับตาสำหรับโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนที่ดินกว่า 200ไร่ ติดริมถนนเกษตร-นวมินทร์ หรือถนนประเสริฐมนูกิจ ที่กลายเป็นถนนสายเศรษฐกิจอีกเส้น เมื่อ มีการยืนยันจากคนในทีซีซีกรุ๊ปว่า หากกระทรวงคมนาคมมีความชัดเจนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล (แคราย-ลำสาลี) และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วนชั้นที่ 2) N2 งเชื่อมโยงผ่านบริเวณหน้าโครงการพัฒนาเป็นศูนย์การประชุมศูนย์การแสดงสินค้า ระดับนานาชาติ รวมทั้งโครงการที่อยู่อาศัย เนื่องจาก ที่ดินแปลงใหญ่ จึงทยอยพัฒนาเป็นเฟส
ปั้นเมืองรับอีอีซี
ขณะที่ดินทำเลทองย่านบางบ่อ ติดถนนบางนา-ตราด ประมาณกิโลเมตรที่ 55 เจ้าสัวเจริญซื้อไว้ 3,900ไร่ มูลค่า8,000ล้านบาท เฉลี่ยราคาไร่ละ 2ล้าน ถือว่าค่อนข้างถูก สำหรับการสร้างมูลค่าความเป็นเมืองอุตสาหกรรม ระบบโลจิสติกส์ และที่อยู่อาศับแนวราบ รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เนื่องจากทำเล ด้านหน้าติดถนนบางนา-ตราดและด้านหลังติดมอเตอร์เวย์มองว่ามีศักยภาพสำหรับการพัฒนา
เช่นเดียวกับที่ดินเนื้อที่กว่า 80 ไร่ และมีแผนซื้อต่อเนื่องบริเวณ ใกล้กับ สถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีพัทยามูลค่า 2 หมื่นล้านบาท รูปแบบจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบเอเชียทีค ในกทม.นอกจากนี้แล้วยังยังซื้อโรงแรมซิกมารีสอร์ท จอมเทียนพัทยา มูลค่า 550 ล้านบาทที่แจ้งต่อตลาด หลักทรัพย์พร้อมกับเวิ้งนครเขษม
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564