ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 3,174 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศและในเรือนจำ เสียชีวิต 51 คน พร้อมเร่งแก้ปัญหาจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤต พร้อมยืนยันไม่มีการล็อคดาวน์กรุงเทพฯ สกัดการแพร่ระบาด นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ (23 มิ.ย.64 ) พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,174 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,112 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,392 คน และการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 720 คน จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 36 คน และผู้เดินทางจากต่างประเทศ 26 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 51 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนยันสะสม 228,539 คน มีผู้ป่วยหายเพิ่ม 1,941 คน รวมหายป่วยแล้ว 189,777 คน อยู่ระหว่างการรักษา 37,018 คน เสียชีวิตรวม 1,744 คน จำนวนผู้รับการบริการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-22 มิ.ย.64 รวมจำนวน 8,148,335 โดส เป็นแข็มแรก 5,844,521 โดส และเข็มที่สอง 2,303,814 โดส สำหรับกรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 96 แห่ง มีคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ โรงงานเย็บผ้า ซอยประดู่ ย่านบางคอหลม โรงงานทำจิวเวลรี่ ย่านคลองสาน แคมป์ที่พักคนงานในกองบัญชาการศึกษา สตช. โรงงานเย็บผ้าย่านทุ่งครุ และในหลายจังหวัดยังพบคลัสเตอร์ใหม่ เช่น โรงงานน้ำแข็ง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ โรงงานผิตยางรถยนต์ อำเภอกระทุ่มแบน โรงงานอาหารทะเลแปรรูป อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนเตียงที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตในการรองรับผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้น โดยมีความแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงมีข้อเสนอว่าพื้นที่โซนสีเขียว ซึ่งรับเป็นผู้ป่วยอาการไม่มากขึ้น หากสามารถย้ายไปอยู่ Hospitel ส่วนหนึ่งจะทำให้มีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น นอกจากนี้ ศักยภาพโรงพยาบาลรัฐเต็มขีดจำกัดแล้ว ดังนั้นหากสามารถปรับบางพื้นที่ เช่น สถานที่ดูแลผู้สูงอายุย่านบางขุนเทียน เพื่อขยายศักยภาพเตียง แต่อาจมีข้อจำกัดด้านบุคลกากรทางการแพทย์ จึงจะได้หารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่จะนำบุคลการของเอกชนมาเสริมส่วนนี้ได้ ”ตอนนี้กลไกลการบริหารอาจต้องเปลี่ยนจากภาคปกติ จึงต้องปรับรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับวิกฤต โดยดึงศักยภาพของหน่วยงานเอกชน โดยสร้าง ICU เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยหนักนอกโรงพยาบาล และความร่วมมือจากเอกชนร่วมกัน” ส่วนข้อเสนอบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการให้ล็อคดาวน์กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอ แต่จะดำเนินการในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น แคมป์ก่อสร้าง เนืองจากต้องพิจารณาผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้น จึงต้องไตร่ตรองอย่างดี ”การปิด กทม. ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานจากต่างจังหวัด ดังนั้นหากล็อคดาวน์ อาจเกิดการเคลื่อนย้าย ไปติดเชื้อในต่างจังหวัดอีกได้ ดังนั้นถ้าจะทำคือ Bubble and Seal โดยจะมีการกำหนดนิยามให้ตรงกัน ดังนั้นขณะนี้การแบ่งเขตดำเนินการขึ้นอยู่กับรองปลัดกทม. วางแนวทางจัดการเฉพาะที่” |