สนข.เผยเอกชนรุมจีบพัฒนาฟีดเดอร์หนุนเดินทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดเวทีรับฟังความเห็นเคาะแนวเส้นทางและระบบขนส่งที่เหมาะสมภายใน พ.ย.นี้ เผยเป้าหมายเน้นรถยนต์ไฟฟ้า หวังดันเป็นโมเดลคมนาคมลดมลพิษ
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยระบุว่า หลังจากที่ สนข.เริ่มต้นศึกษาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (ฟีดเดอร์) เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ตั้งแต่ ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีเอกชนสนใจขอข้อมูลเพื่อเตรียมลงทุนระบบขนส่งดังกล่าวจำนวนมาก อาทิ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)(EA)
“เรามีความจำเป็นที่ต้องทำฟีดเดอร์เพื่อสนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า ซึ่งนโยบายของกระทรวงคมนาคม จะนำร่องรถไฟฟ้าสายสีแดงที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.นี้ เป้าหมายเราจะต้องสอบถามความเห็นประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อคัดเลือกระบบฟีดเดอร์ที่ผู้ใช้ต้องการ เส้นทางที่เหมาะสม”
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของ สนข.ในเบื้องต้น พบว่าฟีดเดอร์ที่จะสอดคล้องกับการใช้งานนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรถหมวด 4 ซึ่งจะเป็นรถโดยสารสาธารณะ เชื่อมต่อเส้นทางสายหลัก และเส้นทางสายย่อย แยกไปยังหมู่บ้านหรือแหล่งชุมชนต่างๆ อาทิ รถเมล์เล็กหรือรถสองแถว แต่ฟีดเดอร์เหล่านี้ กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายในการผลักดันให้เป็นต้นแบบโครงข่ายคมนาคมลดมลพิษ ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะคัดเลือกฟีดเดอร์ที่เป็นรูปแบบ Electric Vehicle (EV) ทั้งหมด
นายปัญญา ยังกล่าวอีกว่า สนข.จะทำการศึกษาความเหมาะสมของการจัดทำฟีดเดอร์เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจะนำร่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง คาดการณ์ว่าจะสามารถรวบรวมความเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วเสร็จเพื่อนำผลการศึกษาเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการเปิดเชิญชวนเอกชนลงทุนเดินรถตามเส้นทางต่างๆ ทันต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง
ทั้งนี้ สนข.ได้จัดงานสัมมนาปฐมนิเทศ โครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันนี้ (24 มี.ค.) โดยจะมีประชาชน เอกชนผู้ประกอบการเดินรถขนส่งต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้า ฟีดเดอร์จะเน้นแนวเส้นทางที่ผ่านบริเวณชุมชน เพื่อนำประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวก
“แนวเส้นทางฟีดเดอร์ สนข.เราจะสรุปจากผลการรับฟังความเห็นทั้งหมด และเสนอให้กับกระทรวงฯ และ ขบ.ในการเปิดเส้นทางเดินรถเส้นทางใหม่ เชื่อว่าจะมีเอกชนสนใจเดินรถจำนวนมาก เพราะขณะนี้ก็มีเอกชนเข้ามาสอบถามข้อมูลโครงการเพื่อไปศึกษาหลายราย แต่การขออนุญาตเดินรถจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของ ขบ. สามารถมีเอกชนเดินรถได้หลายราย แต่แนวเส้นทางต้องไม่ทับซ้อนกัน”