วันนี้ (28 ก.ค.) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กถึงแนวทางการแก้ปปัญหาสถานการณ์โควิดในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ว่า
“ข้อเสนอ แนวทาง 6R สำหรับ “ปฏิบัติการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 3”
วันนี้ 28 กรกฎาคม 2564 ทางชมรมแพทย์ชนบท ได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในกรุงเทพมหานคร ในที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
แพทย์ชนบทได้นำเสนอข้อมูลการปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง 2 ครั้ง ตรวจ rapid test ให้พี่น้องประชาชนในชุมชนแออัดไปทั้งสิ้น 51,389 คน พบผลบวก 6,863 คน คิดเป็น 13.35% และได้นำเสนอข้อเสนอสำหรับการกู้กรุงเทพ ซึ่งสังเคราะห์จากประสบการณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมา
ข้อเสนอของแพทย์ชนบท ยังมุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดให้ได้ เพราะนั่นคือจุดระบาดใหญ่ แล้วกรุงเทพจะรอด เมื่อกรุงเทพรอด ต่างจังหวัดก็จะรอดด้วย เราประมวลแนวทางได้เป็นตัวย่อว่า 6R กล่าวคือ
1. Rapid Testing แม้เตียงเต็ม จะล้น เรายิ่งต้อง rapid testing โดย ATK-antigentest kit ให้มาก เพื่อแยกผู้ป่วยออกมา
2. Rapid tracing นำผู้สัมผัสร่วมบ้านร่วมงานมาตรวจให้มากที่สุดในวันเดียวกัน
3. Rapid treatment ด้วย early home favipiravir หรือจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทันที ที่พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหรือมีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ เพื่อไม่ให้เขาต้องป่วยหนัก ส่วนคนติดเชื้อที่ไม่ป่วยให้ฟ้าทะลายโจร และรับเข้า HI-home isolation ในวันเดียวกัน
4. Rapid vaccination ฉีดวัคซีนให้เร็วและให้ครอบคลุมในชุมชนแออัด โดยเน้นที่ผู้สูงอายุก่อน และหากมีวัคซีนมากพอก็ฉีดทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี
หากทำทั้ง 4 มาตรการแล้ว จะลดการระบาดได้แน่ ลดการป่วยหนักและการตายลงได้ ส่งผลให้ลดภาวะการมีเตียงไม่พอลงได้ สิ่งนี้คือบทบาทของภาคสาธารณสุขทั้งของ สธ. กทม.และทีมแพทย์ชนบทสามารถดำเนินการร่วมกันได้
และหากรัฐบาลจะกู้กรุงเทพแบบอู่ฮั่นโมเดล ก็ต้องทำอีก2R ก็จะยิ่งสามารถลดการระบาดได้อีก คือ
5. Rapid lockdown ในชุมชนที่ระบาด เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อออกนอกชุมชน เนื่องจากบางรายมีเชื้อระยะเริ่มต้นแต่ยังตรวจด้วย ATK หรือ rtPCR ไม่พบ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้อง lockdown ทั้ง กทม.
6 Rapid healing หาก lockdown ก็ต้องมีการเยียวยาผู้คนในชุมชนแออัดนั้นๆ เยียวยาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เขามีรายได้เพื่อสามารถยังชีพได้ในระหว่างที่มีการล็อคดาวน์ชุมชนของเขา
นี่คือ 6 ข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ขณะนี้ทีมแพทย์ชนบทกำลังประสานงาน ระดมความร่วมมือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและตอบรับจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชนที่จะร่วมกัน “ปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3” ร่วมกัน เร็วๆนี้