ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศไทยประจำวันนี้ (9 พ.ค.) เพิ่มขึ้น 2,101 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,457 ราย ขณะที่โฆษก ศบค. ระบุว่ากลยุทธ์สำคัญของ กทม.ในขณะนี้ คือ การตรวจเชิงรุกในพื้นที่เป้าหมายเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของกรุงเทพฯ ประจำวันที่ 9 พ.ค. อยู่ที่ 980 ราย รวมยอดติดเชื้อสะสมในการระบาดระลอกใหม่ (1 เม.ย.-9 พ.ค.) อยู่ที่ 19,009 ราย
โฆษก ศบค. กล่าวว่าจากตัวเลขผู้ติดเชื้อประจำวันในกลุ่ม พบว่าเริ่มเข้ามาสู่ตลาดและชุมชน รวมทั้งกลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันและการติดเชื้อจากภายในครอบครัว
“ตัวเลขเหล่านี้เราต้องเอามาบริหารสถานการณ์ว่าจะเป็นการตรวจแบบกระจาย การตรวจเชิงรุก หรือเจาะเฉพาะกลุ่ม” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
ตัวเลขจากการรายงานของ ศบค. ยังระบุถึงยอดการคัดกรองเชิงรุกของ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ตรวจไปแล้ว 107,366 ราย ผลพบเชื้อ 2,874 ราย สัดส่วนการพบเชื้ออยู่ที่ 2.68%
ส่วนวานนี้ (8 พ.ค.) กทม.ได้ตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 6,869 ราย พบผู้ติดเชื้อจากกตรวจเชิงรุกวันเดียว 241 ราย
สำหรับคลัสเตอร์ใหญ่กลุ่มหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีรายงานออกมาในวันนี้ (9 พ.ค.) อย่างเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคน รายงานว่า มีการตรวจเชิงรุกไปแล้ว 16,131 ราย ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ติดเชื้อ 477 ราย ผลไม่ติดเชื้อ 8,870 รายและยังรอผลอยู่อีก 6,784 ราย
ก่อนหน้านี้ ศบค. ระบุว่า พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดของคลัสเตอร์ กทม. คือ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก เขตดุสิต ชุมชนปากคลองตลาด เขตพระนคร และศูนย์การค้าเขตพระนคร ที่ทาง ศบค. อธิบายลักษณะว่าเป็น “พื้นที่ไฟกำลังไหม้”
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศของ กทม. ยังสอดคล้อง กับจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่สูงสุดในประเทศเช่นกัน
สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 สูงสุดในพื้นที่ กทม. 10 ลำดับแรกประจำวันที่ 8 พ.ค. ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (31 ราย) เขตคลองเตย (19 ราย) เขตปทุมวัน (18 ราย) เขตดินแดง (14 ราย) เขตลาดพร้าว (12 ราย) เขตราชเทวี (11 ราย) เขตห้วยขวาง (11 ราย) เขตจตุจักร (10 ราย) เขตวัฒนา (10 ราย) และเขตวังทองหลาง (9 ราย)
นพ.ทวีศิลป์ ระบุข้อแนะนำของประชาชนใน กทม.ที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อว่าให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และ “ขอให้หยุดอยู่กับบ้าน”
ส่วนการตรวจเชิงรุกยังมีการดำเนินการต่อเนื่องทุกวันในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน โดยเฉพาะที่ชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งมีความชุกของการติดเชื้อ 3 ชุมชน จากทั้งหมด 6 ชุมชน
นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 9-11 พ.ค. จะมีการตรวจเชิงรุกในชุมชนหลายแห่งได้แก่ เขตดุสิตที่ชุมชนบ้านญวน สะพานขาว เขตราชเทวีที่ตลาดประตูน้ำ เขตดินแดง ที่แฟลตดินแดงและชุมชนย่านพระรามเก้า และเขตป้อมปราบศัตรพ่ายที่ชุมชนโบ๊เบ๊ เป็นต้น
ติดเชื้อรายใหม่ 2,101 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย
สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง ประจำวันที่ 9 พ.ค. จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญ ดังนี้
- พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,101 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 54,512 ราย ( 1 เม.ย.-9 พ.ค.)
- ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 17 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมในระลอกใหม่ 399 ราย
- ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในระบาดระลอก เม.ย. 29,371 ราย (ในโรงพยาบาล 20,477 / โรงพยาบาลสนาม 8,894) นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอาการหนักทั้งสิ้น 1,442 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 394 ราย
- ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วในการระบาดระลอกใหม่ 26,179 ราย เพิ่มขึ้นวันนี้ 2,179 ราย
บุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อในระลอกสามแล้ว 512 ราย
โฆษก ศบค. ระบุว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานวันนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์ 1 คน เป็นทันตแพทย์ ซึ่งมีโรคประจำตัวเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเกี่ยวข้องกับปอด
จากการเสียชีวิตของทันตแพทย์รายนี้ นพ.ทวีศิลป์ จึงได้นำข้อสรุปจากที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพูดถึงลักษณะของบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อไว้ว่า กลุ่มก้อนใหญ่สุด 34% เป็นพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล
สำหรับการระบาดระลอกล่าสุด มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อแล้ว 512 ราย อายุเฉลี่ย 33.37 ปี เป็นเพศหญิง 3.10 ต่อ ชาย 1 คน โดยปัจจัยเสี่ยงของบุคลากรทั้งหมด พบว่าเกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยหรือให้การรักษาผู้ป่วยยืนยันขณะทำงานจำนวน 202 คน
นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐสูงถึง 65% ตามด้วย รพ.เอกชน 29%
ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายพื้นที่จะพบว่าสูงสุดใน กทม. 137 ราย