เผยแพร่:
ปรับปรุง:
“โต้โต้” โดน ม.112 ครั้งแรก ตำรวจกาฬสินธุ์เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แจ้งข้อกล่าวหาทำป้ายหมิ่นฯ นำไปติดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ซ้ำยังถ่ายภาพโชว์ในเฟซบุ๊ก เจ้าตัวปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เพจ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” รายงานว่า วันนี้ (30 มีนาคม 2564) เวลา 10.30 น. คณะพนักงานสอบสวน จากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดย พ.ต.อ.สุธน สีหามาตย์ เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำกลุ่มการ์ดอาสา We Volunteer ที่ถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2564 โดยมีทนายความเข้าร่วมการสอบสวน
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายปิยรัฐ โดยระบุพฤติการณ์ว่า นายปิยรัฐได้ร่วมกับพวก จัดทำป้ายไวนิลเพื่อติดประกาศวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล แล้วใส่ข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ลงในแผ่นป้ายดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 เวลาประมาณ 12.00 น. ได้นำไปติดไว้ที่ต้นไม้และเสาไฟ รวมทั้งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติบนเกาะกลางถนน บนถนนสายอำเภอยางตลาด-จังหวัดกาฬสินธุ์ เขตหมู่บ้านโคกศรี ตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ มีทั้งหมดจำนวน 7 แผ่นเรียงกัน ตามข้อความดังนี้
แผ่นที่ 1 มีข้อความว่า หาวัคซีนให้วัง
แผ่นที่ 2 มีข้อความว่า ผูกขาดบริษัทวัคซีน
แผ่นที่ 3 มีข้อความว่า ถ้าเป็นนักการเมืองเราเรียกว่า
แผ่นที่ 4 มีข้อความว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน
แผ่นที่ 5 มีข้อความว่า แต่พอเป็น… (ชื่อย่อบุคคล)
แผ่นที่ 6 มีข้อความว่า เราเรียกว่า
แผ่นที่ 7 มีข้อความว่า น้ำพระทัย, พระราชทาน
ต่อมา มีการถ่ายภาพป้ายทั้งเจ็ด นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ -Piyarat Chongthep” และทวิตเตอร์ชื่อ “We Volunteer”
บันทึกแจ้งข้อหาระบุอีกว่า จากการสอบสวนมีพยานยืนยันว่า ข้อความตามแผ่นป้ายดังกล่าว มีข้อความที่มีความหมายสื่อเป็นเชิงดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จริง
พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
หลังได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา นายปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา
คดีนี้นับเป็นการถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 คดีแรกของปิยรัฐ และทำให้เขาถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 รวมแล้วเป็น 11 คดี
นายปิยรัฐ ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ก่อนถูกย้ายมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 หลังถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 วันดังกล่าว นายปิยรัฐ ถูกควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 ฐานเป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจร
แม้มีการยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวด้วยเงินสด 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 เพิ่มหลักทรัพย์ถึง 100,000 บาท แต่ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ล่าสุด มีการยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันในวันพรุ่งนี้ (31 มีนาคม 2564) เวลา 10.00 น.
สำหรับ โตโต้ นายปิยรัฐ จงเทพ ปัจจุบันอายุ 30 ปี เป็นคนพื้นเพจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2553 ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 เป็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ กับพรรคอนาคตใหม่ โดยได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ของเขตนั้น ภายหลังจากไม่ได้รับเลือกตั้ง โตโต้เดินหน้าทำกิจกรรมทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมาตลอด โดยเฉพาะบทบาทตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer ที่ภายหลังถูกเรียกว่ากลุ่มการ์ด WeVo