ต้องยอมรับว่ามาพร้อม ๆ กับเวลามีปัญหาของ ภัยแล้ง ก็คือปัญหา น้ำทะเล หนุนขึ้นมาตามแม่น้ำลำคลองของตามจังหวัดพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้กับปากอ่าวไทยไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนส่งผลกระทบเริ่มทำให้ น้ำประปามีรสเค็ม จนมีการวิจารณ์หนักในวงกว้าง หลายคนหวั่นวิตกกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจส่งผล กระทบต่อสุขภาพ จากข้อมูลพบว่า หลายเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวใกล้กับทะเล เวลาหน้าร้อน ภัยแล้งมาเยือนฝนตกน้อย ส่วนใหญ่จะเจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน ไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาน้ำเค็มรุนแรงช่วงฤดูแล้ง
ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงปัญหาน้ำประปาเค็มที่เริ่มมาเยือนในช่วงภัยแล้ง นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมฯ) การประปานครหลวง (กปน.) และ โฆษกการประปานครหลวง ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาน้ำเค็มเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2553 และทวีความรุนแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา ที่จะมีบางช่วงที่มีปริมาณความเค็มมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในปี 64 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้น้ำประปาเค็ม เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าปกติในพื้นที่อ่าวไทย และปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีปริมาณฝนน้อย ทำให้ไม่มีน้ำที่เพียงพอจะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยพื้นที่ของการประปานครหลวง ที่จะได้รับผลกระทบคือ กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันออก), นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่จะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นผลมาจากน้ำทะเลที่หนุนสูงในบางช่วงเวลา ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ (ฝั่งตะวันตก) และนนทบุรี บางส่วนจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่หลักในการผลิต โดยยังไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับโรงผลิตน้ำอยู่ในพื้นที่
ห่างไกลทะเล
สำหรับปัญหาน้ำประปาเค็มเป็นในบางช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง มีปัจจัยมาจากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง แต่จะไม่เกิดขึ้นทั้งวัน โดยที่ผ่านมาเกิดขึ้นช่วงวันที่ 28 ม.ค.–2 ก.พ.64 ที่เกิดการหนุนตัวสูงขึ้นของน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทย คล้ายกับช่วง วันที่ 10–18 ม.ค. 64 ประกอบกับช่วงระยะเวลานั้นมีคลื่นลมแรง จากอ่าวไทยพัดเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เลยเป็นแรงกระตุ้นทำให้น้ำทะเลหนุนเร็วมากกว่าปกติ เลยทำให้ในช่วงวันดังกล่าวน้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง การประปานครหลวงมีการเฝ้าระวัง และดำเนินการบริหารจัดการน้ำดิบที่สูบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบ สำแล จ.ปทุมธานี พยายามหลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบที่มีปริมาณความเค็มสูงเข้ามายังคลองประปาให้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยในการนำมาผลิตน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำบางเขน สามเสน และธนบุรี
“กปน.” เร่งผันน้ำจากแหล่งอื่นช่วย
หากมองในระบบการผลิต ถ้าต้องผลิตน้ำที่ไม่มีความเค็มผสมอยู่เลยจะต้องใช้ระบบการต้มกลั่น ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก และต้องลงทุนเพิ่มในจำนวนเงินมหาศาล จึงไม่เหมาะสมกับการผลิตน้ำมาใช้ในปริมาณจำนวนมากอย่างที่เราทำอยู่ หรืออีกกระบวนการจะต้องนำน้ำมาผ่าน ระบบกรองน้ำ RO (Reverse Osmosis ) ที่เมื่อสูบน้ำเข้าระบบจะต้องทิ้งน้ำเสียอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่คุ้มค่า เนื่องจากปัญหาน้ำเค็มจะเกิดในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมีระยะเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น โดยระบบกรองน้ำ RO ในต่างประเทศมีที่ดูไบ กับสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ผลิตน้ำได้วันละ 1 ล้านคิว แต่ต้องใช้น้ำและไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล ส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นในการผลิตน้ำ ระบบนี้จะไม่เหมาะกับการผลิตน้ำในไทย เพราะเรามีน้ำต้นทุนที่น้อยอยู่แล้ว
“น้ำไม่ได้กร่อยทุกวัน และวันที่กร่อยก็ไม่ได้กร่อยทั้งวัน โดยผลกระทบจะเกิดกับคนที่ดื่มน้ำประปาเท่านั้น ซึ่งในคนที่ใช้น้ำประปาในกิจกรรมอื่น ๆ จะไม่ได้ส่งผลกระทบ ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะทุกวันนี้น้ำต้นทุนของเรามีน้อยอยู่แล้ว พอโดนน้ำทะเลหนุนสูงยิ่งทำให้ส่งผล กระทบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” ขณะเดียวกันในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง ทางหน่วยงาน กปน.ได้ประชา สัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์การประปานครหลวง และเพจของหน่วยงานเพื่อบอกถึงค่าความเค็มที่เกิดขึ้น ประชาชนสามารถติดตามเพื่อจะได้เตรียมตัวทำการรองน้ำสำรองไว้ในช่วงที่น้ำไม่มีความเค็ม
โฆษก กปน. กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้เราได้ดำเนินโครงการที่จะมาแก้ปัญหาในเรื่องน้ำเค็ม โดยการผันน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง แต่โดยปกติโรงผลิตน้ำจะหยุดสูบได้แค่ 2 ชั่วโมง เพราะถ้านานกว่านั้นน้ำจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โครงการที่ตอนนี้กำลังจะทำคือ เสริมเขื่อนคลองประปาจากบางเขนถึงปทุมธานี ระยะทาง 18 กม. ให้สูงขึ้น เพื่อจะเก็บน้ำได้มาก เมื่อเกิดน้ำเค็มเราจะสามารถปิดประตูน้ำไม่ให้น้ำเค็มเข้ามา และใช้น้ำจากคลองประปาที่มีเพิ่มขึ้นแทน
กระทบไกลถึงปทุมธานี
–ปราจีนฯ
ขณะเดียวกัน นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (สำนักสื่อสารองค์กรฯ) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่เรื่องน้ำประปาเค็มและได้รับผลกระทบของ กปภ. ในตอนนี้คือ จ.ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ตามปกติน้ำเค็มก็จะหนุนขึ้นในช่วงเที่ยงวันถึงเที่ยงคืนและก็จะลงเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว สาเหตุการเกิดน้ำประปาเค็ม จะเกิดเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่ฝนไม่ตก ประมาณเดือน ก.พ.-เม.ย. เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น เพราะไม่มีน้ำจืดไหลลงมาจากข้างบนเพื่อ ดันน้ำเค็มกลับสู่ทะเลได้ตามปกติ ดังนั้นเมื่อนำน้ำดิบมาผลิตเป็นน้ำประปาจึงทำให้มีรสชาติที่กร่อย แตกต่างไปจากพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งตอนนี้ กปภ.มีทั้งหมด 9 สาขา ที่กำลังเฝ้าระวังเรื่องน้ำเค็มอยู่
แนวทางการแก้ปัญหา ทาง กปภ. จะดูแหล่งน้ำที่เค็มเป็นจุด ๆ ไป ที่น่าเป็นห่วงสุดก็คือฝั่งแม่น้ำบางปะกง และ อ.บางคล้า จะมีปัญหาหนักกว่าจุดอื่น เบื้องต้นแก้ไขด้วยการหยุดสูบน้ำในช่วงที่มีปัญหาน้ำเค็มขึ้น หากความเค็มยังเกินค่ามาตรฐานทาง กปภ. ก็จะไปซื้อแหล่งน้ำดิบมาจากบริษัทเอกชน แล้วนำเอาเข้ามาผสมกับน้ำดิบ ก่อนนำไปผลิตเป็นน้ำประปาแจกจ่ายให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกรมชลประทานและการประปานครหลวง ที่ช่วยผันน้ำจืดดัน น้ำเค็มกลับสู่ทะเลให้กลับมาเป็นสภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนแผนระยะยาว ทาง กปภ. มีแผนรองรับที่จะหาพื้นที่ขุดสระหรือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ไว้ตามพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง จะได้มีพื้นที่เก็บน้ำจืดให้มากขึ้น เพราะเรารู้แล้วว่าช่วงที่มีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงนั้นช่วงเดือนไหน
นายสุทัศน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ (สำนักสื่อสารองค์กรฯ) กปภ. กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ทางองค์การอนามัยโลก กำหนดค่ามาตรฐานน้ำดิบที่จะเอามาไว้ผลิตที่ 500 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำประปาที่ผลิตเสร็จแล้ว จะมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร คลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/ลิตร ปกติร่างกายคนเราจะรับโซเดียมได้ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ถ้าน้ำประปามีการเปลี่ยนไปทางด้านโซเดียม หรือคลอไรด์ เพิ่มสูงขึ้น องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า คนป่วยที่เป็นโรคความดันสูง โรคเกี่ยวกับสมองและประสาท หญิงตั้งครรภ์ หรือเด็กเล็กให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาโดยตรง อาจจะต้องหันไปบริโภคน้ำดื่มจากขวดแทน ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะฝากถึงประชาชนนั้นคือ อย่านำน้ำประปาช่วงที่มีปัญหาเรื่องความเค็มไปต้ม เพราะการต้มน้ำจะทำให้น้ำระเหยไป แต่ความเค็มยังคงอยู่ จะทำให้ความเค็มยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ตอนนี้คุณภาพแหล่งน้ำดิบในประเทศไทยเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว เนื่องจากเกิดปัญหาทางด้านมลพิษ ทั้งปล่อยน้ำเสีย หรือทิ้งขยะอันตรายลงตามแม่น้ำลำคลอง อยากฝากถึงประชาชนว่า ตอนนี้แหล่งน้ำดิบบางจังหวัดค่อนข้างหายากมาก บางแห่งเราต้องผันน้ำข้ามจังหวัด เพื่อนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปา เพราะฉะนั้นควรมีการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น อาทิ เวลาแปรงฟัน ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้ หรือเวลาล้างรถ ควรนำหัวต่อสายยางมาใช้ เพื่อให้น้ำกระจายตัวและไม่ไหลแรงจนเกินไป ก็จะเป็นการช่วยประหยัดน้ำได้อีกทางหนึ่ง.