เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: นพ นรนารถ
วันนี้แล้ว วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ประเทศไทยจะเปิดเกมรุก ตอบโต้ไวรัสโควิด-19 ด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าว่า จะฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสให้คนไทย 50 ล้านคน เท่ากับ 70% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาดระลอกใหม่ มีคนติดเชื้อแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 1 พันคน เป็นพื้นที่เป้าหมายอันดับ 1 ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายว่า จะฉีดวัคซีนให้ได้ 5 ล้านคนภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
การฉีดวัคซีนจำนวนมากมายถึง 100 ล้านโดสภายในเวลา 6-7 เดือน เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นความท้าทายของประเทศไทย และของประเทศอื่นทั่วโลก
เมื่อเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับคน 40-50 ล้านคน ในขอบเขตกว้างขวางทั่วประเทศ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีปัญหาขลุกขลักตั้งแต่ตอนลงทะเบียนจองคิวฉีดไปจนถึงนัดหมายวันเวลา ที่ในบางจังหวัดมีการเลื่อนวันฉีดวัคซีนที่มีการจองมาก่อนหน้านี้ออกไปก่อน ด้วยเหตุผลว่า ได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ
ประเทศไทยใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก โดยมีวัคซีนซิโนแวค เป็นตัวเสริม และจะมีวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เพิ่มเข้ามาในไตรมาสที่ 3 และที่ 4 ถึงแม้แอสตร้าเซนเนก้าจะมีสัญญาส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาล 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน และเดือนละ 10 ล้านโดสตั้งแต่กรกฎาคม-พฤศจิกายน 5 ล้านโดสในเดือนธันวาคม แต่การส่งมอบวัคซีน เป็นการทยอยส่งมอบตามกำลังการผลิต โดยที่ยังไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนในแต่ละเดือน
ขณะเดียวกัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ใช่ใช้ในประเทศไทยที่เดียว แต่แอสตร้าเซนเนก้ามีสัญญาจัดส่งให้กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีก 7 ประเทศ ตามที่ตกลงซื้อขายกันล่วงหน้า ในสถานการณ์ที่ หลายๆ ประเทศเกิดการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงพร้อมๆ กัน ทุกประเทศต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วน การบริหารซัปพลายวัคซีนที่จ่ายมอบให้กับประเทศต่างๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับแอสตร้าเซนเนก้า
ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ตัวเลขจำนวนวัคซีนในมือล่วงหน้า ได้ทำให้กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้คุมสต๊อกวัคซีน ต้องปรับปลี่ยนวิธีการกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับ โดยเปลี่ยนจากการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จากรายเดือนเป็นรายสัปดาห์ ให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่มีความสามารถในการฉีด และความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่
กลางเดือนพฤษภาคม การระบาดในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล รุนแรงขึ้น กลายเป็นพื้นที่สีแดงที่มีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง ชุมชนแออัด ตลาดสดกระจายกันอยู่ทั่วกรุง ทำให้ ศคบ.ต้องปรับแผนการฉีดวัคซีนใหม่ โดยให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด การกระจายวัคซีนตามแบบเดิมที่ให้กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวทั่วประเทศได้รับวัคซีนก่อน โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการเทวัคซีนให้กับกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการมากที่สุด โดยกรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ 1 ล้านโดสจากทั้งหมด 1.8 ล้านโดส
พร้อมๆ กับการลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม ซึ่งไม่สามารถรองรับผู้ลงทะเบียนขนาดใหญ่ได้ ถูกเปลี่ยนเป็นการลงทะเบียนสำหรับคนกรุงเทพฯ ผ่านเว็บไซต์ ไทยร่วมใจ แอปฯ เป๋าตัง ร้านสะดวกซื้อ และลงทะเบียนผ่านโอเปอเรเตอร์มือถือ
การเปลี่ยนแผนการกระจายวัคซีนจากเดิมที่กระจายตามกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ มาเป็นการเทวัคซีนที่มีการส่งมอบแล้วลงไปที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มากที่สุด ทำให้ จังหวัดอื่นๆ ได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าจำนวนคนที่ลงทะเบียนจอง จึงมีประกาศของโรงพยาบาลหลายๆ แห่งเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมออกไป โดยอ้างว่า ไม่มีวัคซีน
การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ไม่เป็นเอกภาพ และไม่ทันการของภาครัฐ ยิ่งทำให้ประชาชนสับสน คำยืนยันของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ว่าวันที่ 7 มิถุนายน คนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนกับประกาศผ่านเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลบางแห่งเลื่อนการฉีดวัคซีนที่ได้นัดหมายไว้เพราะวัคซีนไม่พอ แพร่กระจายเป็นโลกคู่ขนานกันในโลกออนไลน์ ไม่รู้ว่า จะเชื่อใครดี
หวังว่า ความสับสนวุ่นวายโกลาหลเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพียงช่วงแรกใน 1-2 สัปดาห์แรกของการปูพรมฉีดวัคซีน อันเป็นปกติธรรมดาของปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากนั้น เมื่อวัคซีนเริ่มทยอยมาอย่างสม่ำเสมอ และประสบการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์แรก จะทำให้แผนการปูพรมฉีดวัคซีนเข้าที่เข้าทาง เดินหน้าไปสู่เป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทย 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ได้อย่างราบรื่น