สยามรัฐออนไลน์
11 กุมภาพันธ์ 2564 11:50 น.
อาชญากรรม
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้รับเรื่องจากสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police) เกี่ยวกับบุคคลสัญชาติไทยที่อาจมีพฤติการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับข้อมูลเป็นภาพถ่ายโป๊เปลือยเด็กเพียงภาพเดียว จนนำมาสู่การปฏิบัติการแบบบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูล จากองค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.) มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อทราบเบาะแสว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดชื่อ นายฐกร อรรถปฐมชัย หรือ นายหมี หรือ นายบาส จึงได้มีการสนธิกำลังร่วมกับ สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย และประสานข้อมูลร่วมกับ Federal Bureau of Investigation (FBI), Homeland Security Investigations (HSI) และ New Zealand Police ในการจับกุมตัว นายฐกรฯ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 และในวันเดียวกัน ได้สนธิกำลังร่วมกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ในการรวบรวมพยานหลักฐานสำคัญ เพื่อเสนอเป็นคดีพิเศษที่ 77/2563 และนำมาสู่การจับกุม นายดนุเดช แสงแก้ว หรือ นุ หรือ เนเน่ ผู้ต้องหาตามหมายจับสัญชาติไทย ในวันนี้
การปฏิบัติการในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ได้จับกุมตัว นายดนุเดช แสงแก้ว หรือ นุ หรือ เนเน่ ได้ที่บ้านพัก ซึ่งใช้เป็นสำนักงานเนเน่โมเดลลิ่ง (Nene Modeling)
ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลลิ่งเด็กที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้, กระทำชำเรา และพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม, กระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร
จากการสืบสวนและจับกุมนายดนุเดชฯ ในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพบคลังภาพลามกอนาจารเด็กมากกว่า 500,000 ไฟล์ภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการได้มาซึ่งภาพลามกอนาจารเด็กที่มากที่สุด และเกี่ยวพันกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจำนวนหลายพันราย ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมากกว่าครั้งใดๆ
นอกจากการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้มีการประสานกับองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไร ได้แก่ องค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.), มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A21 Foundation), องค์กร LIFT International, มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT), TCLS Legal Advocate และศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม เพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงช่วยในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายการจับกุมผู้ต้องหาในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการข่าว ตลอดจนความร่วมมือในการสืบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีความเชื่อมโยงในการกระทำความผิดในหลายทวีปทั่วโลก ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการจัดแถลงรายละเอียดถึงความร่วมมือและแนวทางในการดำเนินการร่วมกันต่อไปอีกครั้ง อันจะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม และเป็นกรณีที่หน่วยงานระหว่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่ง