วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4-จนถึงรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์ สถาปัตยกรรมของวัดบวรนิเวศวิหารเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและจีน และมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดดังนี้ พระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานสององค์ คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อเพชร) ประดิษฐานด้านหลัง อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ประดิษฐานด้านหน้าใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร นอกจากนี้ยังมีพระรูปสมเด็จพระสมณเจ้า 2 องค์ คือ สมเด็จกรมพระยาปวเสศวิทยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสองส่วน คือ จิตรกรรมฝาผนังตอนบน เป็นภาพปริศนาธรรมฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึงเป็นภาพปริศนาธรรมอันเนื่องด้วยคุณพระรัตนตรัย จำนวน 16 ตอน ส่วนตอนล่างผนัง เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย และประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนา จำนวน 15 ภาพ ภาพเขียนเสาอุโบสถ เรียกว่า ฉฬาภิชาติ หรือหกชาติ ลายดอกไม้แต่ละเสาแสดงสีแต่ละชาติ เพื่อแสดงถึงจิตใจของบุคคล 6 ประเภท ตั้งแต่ดำสนิทจนถึงขาวสะอาด พระอุโบสถเปิดทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.ด้านข้างพระอุโบสถ สองด้านเป็นซุ้มปรางค์พระพุทธรูป คือ ซุ้มปรางค์ทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาประทับยืนสมัยทวารวดี อัญเชิญจากวัดตองปุ จังหวัดลพบุรี ซุ้มปรางค์ทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาสมัยศรีวิชัย พระไวโรจนะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับถวายมาจากพระเจดีย์บุโรพุทโธ เมื่อครั้งเสด็จฯ เกาะชวา พระมหาเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลม สีทองสง่างดงาม คูหาภายในมีพระเจดีย์กาไหล่ทองประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และลานทักษิณชั้นนี้มีซุ้มปรางค์เล็กประดิษฐานพระไพรีพินาศ ซุ้มประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนทักษิณชั้นที่ 1 เทวรูปประดิษฐานแต่ละทิศ ทิศเหนือ พระพรหม พระวิสสฺกรรม ทิศใต้ พระนารายณ์ พระศิวะ ทิศตะวันตก พระปัญจสิขะ พระประคนธรรพ์ นอกจากนี้ มีรูปหล่อสัตว์สี่ชนิดหมายถึงสี่เมืองที่อยู่ใกล้ล้อมรอบประเทศไทย ได้แก่ ม้า-เมียนมา นก-โยนก ช้าง-ล้านช้าง และ สิงห์-สิงคโปร์ วิหารเก๋ง สถาปัตยกรรมไทยผสมผสานจีน หน้าบันตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบรูปคน ดอกไม้ หงส์ ปลา แบ่งเป็นสามห้อง ห้องกลางภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก บนเพดานเป็นลายมังกรดั้นเมฆ และประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิ ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง พระพุทธปัญญาอัคคะ พระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้ครองวัดบวรองค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ครองจีวรคลุมสองพระอังสา ประดิษฐานทิศตะวันออก และ พระพุทธมนุสสนาค เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ครองวัดบวรนิเวศเป็นองค์ที่ 3 ประดิษฐานด้านทิศตะวันตก ด้านนอกวิหารเก๋ง มุขด้านทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระทีฆายุมหมงคล หรือ หลวงพ่อดำพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาจารย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ 9 เมื่อครั้งทรงผนวช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เดิมองค์พระพุทธูปเป็นสีดำ และได้ทำการปิดทองทั้งองค์ ส่วนมุขวิหารเก๋งด้านทิศใต้ ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์จำลอง และใต้ฐานพระพุทธรูปบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวิหารพระศาสดา ภายในประดิษฐาน พระศรีศาสดา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย งดงามมาก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธสีห์ และพระพุทธชินราช นอกจากนี้ มี พระพุทธไสยา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย และที่ฐานพระพุทธไสยาบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระพุทธบาทจำลอง อยู่ภายใน ศาลาพระพุทธบาท เป็นแผ่นศิลาสลักรอยพระบาทคู่ตรงกลางแผ่นหินยาว 3 เมตร 60 เซนติเมตร กว้าง 2.17 เมตร และหนา 20 เซนติเมตร โพธิฆระ เป็นฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีทับเกษตรล้อมรอบ จำลองแบบจากศรีลังกา ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บริเวณบางลำพู ไม่ไกลจากสี่แยกคอกวัวและถนนราชดำเนิน เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. Blog ท่องเที่ยวตะลุยเที่ยวย่านสาทรใต้ ศูนย์รวมทางศาสนาและความเชื่อออกไปสูดอากาศบนยอดไม้ “ป่าในกรุง” กรุงเทพฯ ก็มีแบบนี้ด้วยพาลุย Wall Art ย่านเจริญกรุงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร แหล่งเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ