อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของคนไทย สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อสร้างและออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีและสิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ฯ แห่งนี้ ยังเปรียบเสมือนศูนย์กลาง ความเจริญ โดยถนนสายต่าง ๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ทั้งยังโดดเด่นสะดุดตาด้วยรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐาน บนพานแว่นฟ้า ที่สร้างด้วยทองแดง ขนาดความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบนอยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบมีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ยกั้นรอบลานอนุสาวรีย์ ซึ่งรั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกันครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับพานรัฐธรรมนูญ บนยอดป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือเดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) รอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลง การปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคี พร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร นอกเหนือจากนี้ บริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่งชิลริมร้านกาแฟ ตลอดจนเดินเล่นทอดน่อง เพื่อซึมซับกับประวัติศาสตร์อันยายนาน ของอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ ที่ตั้ง : ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ Blog ท่องเที่ยวกรุงเทพฯตะลุยเที่ยวย่านสาทรใต้ ศูนย์รวมทางศาสนาและความเชื่อออกไปสูดอากาศบนยอดไม้ “ป่าในกรุง” กรุงเทพฯ ก็มีแบบนี้ด้วยพาลุย Wall Art ย่านเจริญกรุงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร แหล่งเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ