กทม.ชวนขับเคลื่อน กรีน บางกอก 2030 ตั้งเป้าพื้นที่เขียว 10 ตร.ม./คน
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้ดำเนินโครงการกรีน บางกอก 2030 (Green Bangkok 2030) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อประชากรให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคน (ตร.ม./คน) ภายในปี 2573 สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2563 สร้างสวนสาธารณะแล้วเสร็จ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่ 2.สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ 2.5 ไร่ และ 3. สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง พื้นที่ 30 ไร่
นางศิลปสวยกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่จะแล้วเสร็จในปี 2564-2565 อีก 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ 2.สวนจากภูผาสู่มหานทีภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พื้นที่ 26 ไร่ 3.สวนสาธารณะบริเวณซอยหน้าวัดหัวลำโพง เขตบางรัก พื้นที่ 0.5 ไร่ 4.สวนสาธารณะบริเวณโครงการต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 35 ไร่ 5.สวนป่าเอกมัย เขตวัฒนา พื้นที่ 5.6 ไร่ 6.สวนสาธารณะบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา ระยะที่ 1 พื้นที่ 25 ไร่ 7.สวนป่านิเวศอ่อนนุช ระยะที่ 1 พื้นที่ 18 ไร่ 8.สวนป่านิเวศหนองแขม พื้นที่ 14 ไร่ และ 9.สวนชุมชนซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ 2 ไร่
“ทั้งนี้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันรวบรวมข้อมูลพื้นที่ว่างเปล่าในเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ พร้อมเสนอแนวทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มอบพื้นที่ว่างเปล่าเข้าร่วมโครงการกรีน บางกอก 2030 มาอย่างต่อเนื่อง” ปลัด กทม.กล่าว และว่า ปัจจุบันมีประชาชนมอบที่ดินเข้าร่วมโครงการในพื้นที่เขตบางรัก คลองสาน บางกอกน้อย พระโขนง สวนหลวง และทวีวัฒนา เป็นต้น อีกทั้งยังได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในการสร้างสวนสาธารณะ ตลอดจนจัดประกวดออกแบบสวนสาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง รวมทั้งให้ความร่วมมือในการนำพื้นที่ว่างมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพิ่มมากยิ่งขึ้น