สนามหลวงในปัจจุบันเปรียบเสมือนกับสวนสาธารณะของคนเมือง ยามเช้าเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ส่วนยามเย็นกลายเป็นที่พักผ่อนเดินเล่นชมเมือง สนามหลวงเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขอบเขต พระบรมมหาราชวังขึ้น และเว้นพื้นที่ที่มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระหว่างพระบรมมหาราชวัง หรือวังหลวงกับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าไว้ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง รวมไปถึงเป็นที่สร้างพระเมรุมาศ โดยพระเมรุมาศที่ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกบนสถานที่นี้ คือพระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ” ซึ่งหากเป็นยามที่มีงานพระเมรุ สถานที่นี้ก็จะเต็มไปด้วยผู้คน แต่ถ้าเป็นช่วงที่ไม่มีงาน บริเวณนี้ก็จะถูกปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวทำนาหลวง และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าชื่อทุ่งพระเมรุนั้น เป็นชื่อที่ฟังดูไม่ดี จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” อย่างที่เรียกกันจนติดปากในปัจจุบัน ภายในท้องสนามหลวง ประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรก คือบริเวณพื้นที่สนามหลวงฝั่งทิศใต้ติดกับพระบรมมหาราชวัง จัดไว้สำหรับงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ส่วนที่สองคือด้านทิศเหนือหรือด้านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนสุดท้ายคือ ถนนเส้นกลาง สำหรับใช้เป็นทางลาดพระบาทเส้นทาง เสด็จพระราชดำเนิน และใช้จัดกิจกรรมประเพณีตามโอกาสสำคัญ ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. Blog ท่องเที่ยวตะลุยเที่ยวย่านสาทรใต้ ศูนย์รวมทางศาสนาและความเชื่อออกไปสูดอากาศบนยอดไม้ “ป่าในกรุง” กรุงเทพฯ ก็มีแบบนี้ด้วยพาลุย Wall Art ย่านเจริญกรุงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร แหล่งเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ